ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. ตั้งทีม HSIU หน่วยจัดการข้อมูลองค์ความรู้เพื่อการตัดสินทางนโยบายแบบใหม่ร่วมติดตามสถานการณ์ถ่ายโอนฯ พร้อมหนุนงานวิชาการ เคลื่อนทันการแก้ปัญหา-พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพปฐมภูมิเกิดประโยชน์สูงสุด

 

จากสถานการณ์การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ณ วันนี้นับเวลาได้กว่า 1 ปีเต็มที่การถ่ายโอนได้มีการดำเนินการ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยคณะทำงาน Health System Intelligent Unit (HSIU) หน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ : กรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ได้มีการติดตามสถานการณ์การดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.

ทั้งนี้ เพื่อการวางกลยุทธ์สร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้คณะทำงาน HSIU ได้จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3/2566 ขึ้น โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และประธานคณะทำงาน HSIU  กล่าวถึงประเด็นสำคัญช่วงเริ่มต้นการประชุมว่า ข้อจำกัดของงานวิจัยที่ผ่านมา คืองานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการทำงานแบบ unit ที่มีการจัดการหรือขับเคลื่อนงานแบบ Daily operation เพื่อให้ทันต่อปัญหาและการเคลื่อนไหวของสถานการณ์รายวันนั้น เป็นเป้าหมายหนึ่งของ HSIU นี้ 

ศึกษาวิจัยรูปแบบการดำเนินงานรพ.สต.ถ่ายโอน

กรณีการถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ. อยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายหรือรอยต่อของพัฒนาการที่อาจเกิดข้อขัดแย้ง ความเห็นพ้องหรือเสียงที่แตกต่างหลากหลายกันไป แต่ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงทัศนคติหรือความไม่เข้าใจของแต่ละฝ่ายแต่ละระดับ สามารถใช้งานวิชาการเข้าไปจัดการหรือเป็นทิศทางของการดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นหรือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำงาน HSIU นี้ จะเป็นวงพูดคุยเพื่อร่วมหาทางแก้ปัญหาโดยความร่วมมือจากหลากหลายฝ่าย

“ตัวอย่างสถานการณ์ตอนนี้ รพ.สต. มีการเบิกเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ ณ วันที่ต้องดำเนินการเอง ซึ่งจะทำอย่างไร มีรูปแบบแบบไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด มันมีศาสตร์ของมัน หรือแม้แต่เรื่องของการบริหารจัดการยาตั้งแต่การซื้อจนถึงส่งให้ถึงมือคนไข้จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ ทุกอย่างต้องมีการศึกษาวิจัย หรือในเรื่องของการเงินการคลัง ซึ่งมีโมเดลการจ่ายที่หลากหลาย พื้นที่ไหนมีบริบทอย่างไรก็สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับพื้นที่นั้น หรือถ้ายังไม่ใช่ก็อาจจะมีโมเดลกลางเพื่อการประยุกต์ใช้ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับโมเดลที่ว่าต้องพึงพอใจร่วมกัน และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งวง HSIU นี้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็น Dashboard ที่เป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การถ่ายโอน โดยเน้นการเชื่อมต่อข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำกับติดตาม พัฒนาการดำเนินงาน หรือแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ได้ต่อไป   

HITAP รายงานความก้าวหน้างานวิจัยการกระจายอำนาจด้านสุขภาพสู่ท้องถิ่น

ในที่ประชุมยังมีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าการศึกษา ซึ่ง สวรส.สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เป็นผู้ดำเนินงาน “กระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบคำถามเชิงนโยบายสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย และการกระจายอำนาจด้านสุขภาพสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมุ่งเน้นการจัดทำข้อมูลอย่างรวดเร็วเพื่อตอบคำถามเชิงนโยบายฯ ในกรอบเวลาไม่เกิน 3 เดือน โจทย์วิจัยที่นำเสนอในวันนี้คือ กระบวนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานใน รพ.สต. ทั้งรูปแบบการติดตามและความถี่ในการติดตาม โดยทำการสำรวจร่วมกับสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารที่มีการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ใน 4 รพ.สต. 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี, ขอนแก่น, กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ผลการศึกษาเป็นเพียงผลเบื้องต้นที่จะมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายต่อไป

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิและนักวิจัยอาวุโส HITAP ได้กล่าวถึงในประเด็นหนึ่งของการประเมินติดตามผลการถ่ายโอนฯ ว่า เราจะทำวิจัยเพื่อประมวลรวบรวมดูตัวชี้วัดที่มีอยู่ รวมทั้งตัววัดที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ งานวิจัยนี้จะดำเนินการเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อจะนำมาระดมความคิดเห็น (work shop)  กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อร่วมพิจารณาข้อมูลและถกแถลงเพื่อให้ได้ตัวชี้วัดที่ควรจะเป็นและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ทั้งนี้การวัดผลเรื่องนี้โดยใช้กรอบคิดขององค์ประกอบระบบสุขภาพ 6 Building Blocks เป็นกรอบการวิจัยที่อาจยังขาดการดูเรื่องผลลัพธ์สำคัญ หรือการดูสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เช่น เรื่องของพลังต่อรองของผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ซึ่งต่างประเทศมีการดูในส่วนนี้ด้วย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันนี้ว่า งานวิจัยนี้เป็นผลเบื้องต้นที่อาจมีการประเมินอีกหลายๆ แห่ง ที่จะเกิดความแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ในการบริหารสาธารณสุข การติดตามกำกับ (Monitoring) เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะเป็นกลไกช่วยบอกว่าเกิดอะไรขึ้น คุณภาพเป็นอย่างไร และเป็นสิ่งที่จะช่วยชี้ให้เกิดการพัฒนาต่อไป ซึ่งโดยหลักการ ตัวชี้วัดที่น่าจะเหมาะสมสำหรับเรื่องนี้คือ การผสมผสานระหว่างตัวชี้วัดพื้นฐานหรือตัวชี้วัดกลางที่ต้องทำเหมือนกันทุกพื้นที่ ร่วมกับการมีตัวชี้วัดเฉพาะพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกันออกไปตามสภาพปัญหาและความต้องการในการบริการประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนจังหวัดถึงตัวชี้วัดที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนั้นส่วนสำคัญของเรื่องการประเมินติดตามคือ ต้องใช้กลไกต่างๆ ร่วมกัน ทั้งการกำกับติดตามในแบบรายงานตามตัวชี้วัด, การประชุมเพื่อติดตามงาน รวมทั้งการออกไปเยี่ยมดูพื้นที่จริง ที่หากไม่มีกลไกเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ ซึ่งการแก้ไขอาจใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ไปพลาง ซึ่งต้องมีการออกแบบงานที่ละเอียดขึ้น หรือใช้กระบวนการนิเทศงานของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นการร่วมมือกับกลไกของ อบจ.

หนุนทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแก้กฎระเบียบช่วยดำเนินงานเพื่อระบบบริการปฐมภูมิ

ในช่วงท้ายของการประชุม ที่ประชุมมีแนวทางที่เห็นพ้องร่วมกันในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินการในพื้นที่ บนเป้าหมายการมองเชิงระบบเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยความร่วมมือและมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขระเบียบการโอนเงินบำรุง เพื่อทำให้การดำเนินงานและระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เกิดดุลยภาพ, การทำให้ท้องถิ่นมีแพทย์เกิดขึ้น และดำเนินการได้ตามกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนั้นด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การถ่ายโอน สวรส. ได้มีการดำเนินงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาเชิงระบบ ทั้งนี้ สวรส.มีแผนการจัดเวทีนำเสนองานวิจัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2567  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเวทีดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากงานวิจัย ซึ่งคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป