ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า" โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมนำร่อง "ระบบจัดยาผู้ป่วยนอกกึ่งอัตโนมัติ(ระบบราง)" เข้ามาใช้ในการจัดยาและจ่ายยาพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 สามารถลดระยะเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยได้ถึง 50% จากเดิมเฉลี่ย 68 นาที (รอคอยนานสุด 3 ชั่วโมงกว่า) เหลือเพียง 31 นาที (รอคอยนานสุด 90 นาที)

วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการระบบจัดยาผู้ป่วยนอกกึ่งอัตโนมัติ (ระบบราง) ห้องยาสำเภาทอง” ณ บริเวณชั้น ๑ อาคารสำเภาทอง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โดยมี นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพที่ 4  นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี แพทย์หญิงณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และคณะเจ้าหน้าที่ร่วมพิธี

นายแพทย์สุรโชค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลารอคอย  โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดนนทบุรี มีผู้มารับบริการประเภทผู้ป่วยนอกประมาณ 2,700 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งได้รับการรักษาด้วยยา และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ยามากกว่า 10 รายการ  ที่ผ่านมาห้องยาไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดยาและจ่ายยา จึงทำให้ระยะเวลารอรับยานาน  การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบการจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพ จึงช่วยให้ผู้รับบริการได้รับยาที่ถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความแออัด ลดการรอคอย  เป็นการยกระดับการให้บริการ และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

จากการที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงระบบการจ่ายยาผู้ป่วยนอก ห้องยาสำเภาทอง สามารถลดระยะเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยได้ถึง 50% จากเดิมระยะเวลารอคอยรับยาเฉลี่ย 68 นาที (รอคอยนานสุด 3 ชั่วโมงกว่า) เหลือระยะเวลารอคอยรับยาเฉลี่ยเพียง 31 นาที (รอคอยนานสุด 90 นาที) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยตรง สำหรับประโยชน์ทางอ้อมช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความสะดวกในการจัดยามากขึ้น ลดความผิดพลาดในการจัดยาลงได้อย่างมาก และยังช่วยลดภาระงานบางอย่างลงได้ จึงทำให้มีเวลามากขึ้นสำหรับไปพัฒนางานที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ  ดังนั้นการใช้งบประมาณในการปรับเปลี่ยนระบบครั้งนี้ ถือว่ามีความคุ้มค่ามากถึงมากที่สุด

นายแพทย์สุรโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายไปใช้ในต่างจังหวัดมีการพูดคุยกับทางบริษัทที่เข้ามาพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมอยู่ เนื่องจากการใช้เครื่องกึ่งอัตโนมัติ(ระบบราง) ยังจำเป็นต้องใช้บุคลากรอยู่และต้องสอดรับกับแรงงานด้วย แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าสามารถลดเวาลาการทำงานของเภสัชกรในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ลดความผิดพลาดในการทำงานด้วย อาทิ การระบุชื่อยาที่จากเดิมจะใช้คนอ่าน แต่ตอนนี้ใช้เครื่องอ่านซึ่งทำใ้ห้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org