ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้การเผยแพร่ข้อมูลด่วนสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายในลักษณะตำหนิ เปรียบเสมือนการพิพากษาคนโดยไม่เจตนา จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังกันในสังคม

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความกดดันในสังคมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2565 มีอัตราสูงที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งจากสถิติใบมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 7.97 ต่อ 1 แสนประชากร  เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลัง มักมีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างกว้างขวางในสื่อออนไลน์พร้อมมีการวิจารณ์หรือด่วนสรุปสาเหตุและตำหนิผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบของ Hate speech มากขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

เพราะในความเป็นจริงนั้น การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใหญ่และมักมีหลายเหตุปัจจัยเกี่ยวข้อง การสรุปหรือด่วนกล่าวโทษสิ่งที่อาจเป็นเพียง “ฟางเส้นสุดท้าย” สามารถนำไปสู่ปัญหาสร้างความเกลียดชัง ความก้าวร้าวหรือแม้แต่ความกดดันจากความรู้สึกผิดและการสูญเสียอื่นๆที่มากขึ้นในทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นการพิพากษาหรือตำหนิรุนแรงในสื่อออนไลน์ ทุกคนจึงต้องมีสติ ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการช่วยกันดูแลสังคมด้วยการแสดงออกที่เหมาะสม

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

 

พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงหรือกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตชีวิต สามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำรับบริการดูแลรับฟังความทุกข์ใจทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อช่วยชะลอทบทวนการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ซึ่งมีการบริการเพิ่มเติมบนแอพพลิเคชันไลน์อีกด้วยเพื่อให้การปรึกษาเบื้องต้นได้สะดวกขึ้น กรมสุขภาพจิตยัง สนับสนุน Sati App แอพพลิเคชันแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงผู้ต้องการพื้นที่เพื่อพูดคุยเพื่อระบายความทุกข์โศกด้วยอาสาสมัครที่เป็นผู้ฟังด้วยหัวใจผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้หากเราช่วยให้ผู้คนจำนวนมากได้เข้าใจและรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิดตนเองมากขึ้น จะสามารถดูแลตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิตยังมีช่องทางการติดต่อต่างๆในการเฝ้าสังเกตและช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงทำร้ายตนเองได้แก่ ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย (HOPE Taskforce) ที่จะคอยทำหน้าที่เฝ้าสังเกตกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายตนเองบนโซเชียลมีเดียและจัดให้มีการติดต่อผู้เชี่ยวชาญให้ปรึกษาและรับส่งต่ออีกด้วย

กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนเห็นใจ รับฟังข่าวสารด้วยสติ ร่วมดูแลสังคมด้วยการแสดงออกต่อกันอย่างเหมาะสม และหมั่นสำรวจสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านช่องทางไลน์คิวอาร์โคด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิตได้ พร้อมรับคำแนะนำการสื่อสารเชิงบวก ลดความไม่พอใจและการแสดงความเห็นรุนแรง และปลอบปะโลมสังคมให้ผาสุขได้

     ไม่ด่วนตำหนิ  ไม่พิพากษากัน ไม่เพิ่มความเกลียดชังในสังคม

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : แถลงการณ์ รพ.เลิดสิน กรณีนักศึกษาแพทย์ปี 6 ตกจากอาคารหอพัก