ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.พื้นที่เยี่ยมชมผู้ป่วยในโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง พร้อมย้ำเป็นนโยบายสำคัญที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการใช้เครื่อง APD ให้แพร่หลายมากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลสันป่าตอง และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาโดยวิธี APD 

สำหรับวิธีการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1. การล้างไตทางเส้นเลือด หรือวิธีฟอกเลือด (HD) 2.การล้างไตผ่านทางช่องท้องแบบที่ผู้ป่วยทำเอง (CAPD) จะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน และ การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) 3. การปลูกถ่ายไต ซึ่งหากพูดถึงประสิทธิภาพแล้ว วิธีการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่จำนวนไตที่สามารถนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรับการบำบัดทดแทนไต 2 วิธีคือ วิธีการฟอกเลือดและการล้างไตผ่านทางช่องท้อง

ทพ.อรรถพร เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เป็นผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไตประมาณ 7.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้ป่วย 5 หมื่นคน ใช้วิธีการ HD อีกประมาณ 1.8 หมื่นคน ใช้วิธีล้างไตแบบ CAPD และมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD ประมาณ 2,600 คน 

อย่างไรก็ตาม แม้เครื่อง APD จะมีข้อดีหลายอย่างแต่ก็ต้องเลือกตามความเหมาะสมของความพร้อมและสิ่งแวดล้อมที่บ้านของผู้ป่วย ผู้ที่ใช้ทางบ้านมีเวลาและความสะดวกบางคนก็ชอบที่จะใช้วิธี CAPD แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้วิธีการ CAPD ได้อาจจะเพราะเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น สายตามองไม่เห็น แต่เนื่องจากเครื่อง APD ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงไม่สม่ำเสมออาจจะมีปัญหาในการใช้เครื่องได้ จึงมิใช่ทุกคนจะเหมาะสมกับการใช้เครื่อง APD

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ในการเข้ารับการบำบัดทดแทนไตจำเป็นต้องมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ โดยมีแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างครอบคลุม ตั้งแต่ขั้นตอนเข้ารักษาว่าจะให้ผู้ป่วยรักษาโดยวิธีการใด หากผู้ป่วยเลือกที่จะใช้เครื่อง APD จะมีเจ้าหน้าที่คอยสอนวิธีการบำบัดทดแทนไตให้อย่างละเอียด

 “ในอนาคตทาง สปสช. ก็มีเป้าหมายว่าอยากจะให้เครื่อง APD ฟรีครอบคลุมทุกสิทธิกองทุนสุขภาพ และที่สำคัญคือครอบคลุมสำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่อง APD รายใหม่ให้ได้มีโอกาสใช้ได้ทุกราย” ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้าน นพ.ทวิช แก้วประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันป่าตอง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสันป่าตอง เริ่มให้บริการล้างไตด้วยเครื่อง APD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ตามนโยบายสำคัญจากทาง สปสช. จนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่พบปัญหาใดๆ ปัจจุบันโรงพยาบาลสันป่าตองมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต จำนวน 159 ราย ใช้วิธี HD จำนวน 33 ราย มีผู้ป่วยล้างไตด้วยตนเองจำนวนรวม 126 ราย แบ่งเป็น CAPD สิทธิบัตรทอง 67 ราย และ APD สิทธิบัตรทอง 44 ราย 

พว.นฏกร ดวงชัย พยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง (PD nurse) ประจำโรงพยาบาลสันป่าตอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดบริการสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกจากบริการที่ให้ผู้ป่วยได้ล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD แล้ว โรงพยาบาลสันป่าตองยังมีบริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ของกลุ่ม APD โดยมี PD nurse และทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมให้คำปรึกษา 

นอกจากนี้ มีการจัดโครงการ CKD (โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง) และ PD สัญจร เพื่อประเมินติดตามการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลในชุมชน การเยี่ยมบ้าน ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และงานส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาล การกำจัดถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้ว เป็นต้น

หลังจากนั้นคณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง นายสวาท บุญรินทร์ อายุ 59 ปี เป็นผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตวิธี CAPD ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต่อมานางทองพูน อินทนนท์ อายุ 58 ปี ผู้เป็นภรรยาของผู้ป่วยสนใจการล้างไตด้วยเครื่อง APD โดยมีเหตุผลที่ผู้ป่วยมองไม่เห็น และภรรยาต้องหาเลี้ยงชีพเพียงคนเดียว ทำให้มีอุปสรรคต่อการดำรงชีพ 

ดังนั้น จึงได้เริ่มนำเครื่อง APD มาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวม 1 ปี 8 เดือน ยังไม่พบปัญหาการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ส่วนภรรยาสามารถร่วมกิจกรรมทางสังคม มีเวลาทำงานโดยขายอาหารในตอนเย็นได้

ทางด้านนางคำ กันธะนะ อายุ 74 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตโดยวิธี CAPD ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2565 มีการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง 1 ครั้ง มีปัญหาเรื่องปวดท้อง ระหว่างทำการล้างไต มีอาการหนาว และเวลาต่อมาผู้ป่วยได้ตัดสินใจเลือกล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่อง APD โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงปัจจุบัน รวม 4 เดือน ปัญหาที่เคยเกิดไม่เกิดขึ้นอีกเลย ญาติมีเวลาทำงานมากขึ้น ไม่ต้องกังวลในเรื่องใดๆ และนางคำเองก็สามารถใช้ชีวิตทำงานเย็บผ้าเพื่อหารายได้เสริมได้ตามปกติ