ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงาน ก.พ.เผยแพร่ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีทั้ง “หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญ”

 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้มีการผลักดันความก้าวหน้าในวิชาชีพต่างๆ ล่าสุดที่ผ่านมามีความคืบหน้าในเรื่องตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เมื่อเร็วๆนี้ เพจเฟซบุ๊กสำนักงาน ก.พ. โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญ ลงนามโดย นายสุวัฒน์ เอื้อเฟื้อ รองเลขาธิการ ก.พ.ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ ก.พ.  ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  ณ วันที่ 28 มิถุนยน 2566 ที่ผ่านมานั้น

ใจความสำคัญ คือ ก.พ.ได้พิจารณาเรื่องนี้เห็นว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และสนับสนุนทางก้าวหน้าของบุคลากรในสายงานพยาบาลวิชาชีพให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยยกเลิกความในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อ 14(1) และข้อ 15 โดยให้ใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1.หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล

หัวหน้ากลุ่มการพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง มีความซับซ้อนของการเจ็บป่วยที่ต้องวางระบบบริการทางการพยาบาล โดยการใช้องค์ความรู้ทางการพยาบาลและความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง ให้กำหนดตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล เป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญ โดยต้องผ่านการประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งตามหลักเกณฑ์การประเมินค่างานที่ ก.พ.กำหนด

2.พยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญ

กำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับเชี่ยวชาญในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล และการเป็นที่ปรึกษาทางคลินิก ให้กำหนดตำแหน่งได้ในโรงพยาบาลที่มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง มีความซับซ้อนของการเจ็บป่วยที่ต้องวางระบบบริการทางการพยาบาล โดยการใช้องค์ความรู้ทางการพยาบาล และความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง โดยต้องผ่านการประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งตามหลักเกณฑ์การประเมินค่างานที่ ก.พ.กำหนด