ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยข้อมูลศึกษา "บุหรี่ไฟฟ้า" ใน 3 ประเทศ พบประเทศที่มี กม.ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จะสามารถควบคุมการซื้อขายบนตลาดออนไลน์ได้ดีกว่า อย่างเช่น "อินเดีย" ควบคุมได้ดีกว่า "อินโดนีเซีย" ที่ไม่มี กม. 

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566  ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า มีการศึกษาเรื่อง "Protecting Youth From Online E-Cigarette Marketing: Findings From a New Study in India, Indonesia and Mexico" ถึงการทำการตลาด "บุหรี่ไฟฟ้า" บนสื่อออนไลน์ ระหว่าง 15 ธ.ค.2021 – 16 มี.ค. 2022 ใน 3 ประเทศ คือ 1. อินเดีย ซึ่งห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2019 2. อินโดนีเซีย ไม่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 3. เม็กซิโก มีกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวก่อนปี 2022 จน พ.ค.2022 ห้ามสมบูรณ์แบบ ทั้งห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามโฆษณา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า  

1. ประเทศที่มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จะสามารถควบคุมการซื้อขายบนตลาดออนไลน์ได้ดีกว่าประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุม โดยปริมาณของบุหรี่ไฟฟ้าในตลาดออนไลน์ในอินโดนีเซีย, เม็กซิโก และอินเดีย เท่ากับ 70, 25 และ 10% ตามลำดับ  2. แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะถูกอ้างว่าใช้เพื่อเลิกบุหรี่ธรรมดา ห้ามขายให้เยาวชน แต่พบว่าตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์กลับทำการตลาดที่ทันสมัย มีเสน่ห์ เท่ โดยเน้นที่กลิ่น สี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ฉูดฉาด ทันสมัย และแฟชั่นเฉพาะกลุ่ม เช่น การ์ตูน ตามราศี ผู้หญิง หุ่นยนตร์ ซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งพบการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเยาวชนถึง 86, 73 และ 53% ในอินเดีย, เม็กซิโก และอินโดนีเซีย ตามลำดับ  

3. ในข้อมูลบนสื่อโซเชียลมีเดีย มีเพียงจำนวนน้อยที่ประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า คือพบเพียง 8% ในเม็กซิโก 0.3% ในอินโดนีเซีย และไม่พบเลยในอินเดีย ดังนั้น รัฐบาลไทย นอกจากต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดแล้ว จะต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้กระทำความผิด ที่ลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องเยาวชนจากการตลาดล่าเหยื่อนี้ พร้อมทั้งเร่งให้ความรู้แก่เยาวชนบนสื่อออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง