ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. “เชิญ ชวน เชียร์ คนไทย ลด ละ เลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2566 ด้านกรมควบคุมโรคเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายการดื่มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แนวโน้มซื้อดื่มที่บ้านสูงมากขึ้นในรอบการสำรวจปี 60 และ 64 หนำซ้ำพบคนดื่มหนักค่าใช้จ่ายซื้อสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 340 บาทต่อวัน แนะ “1 ลด 3 เพิ่ม”

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า ร่วมกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการป้องกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 37 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทบุคคล 14 รางวัล ประเภทองค์กร 15 รางวัล และศิลปินนักแสดงที่เป็นแบบอย่าง 8 รางวัล

ทั่วโลกเสียชีวิตจากพิษแอลกอฮอล์ราว 3 ล้านคน เป็นเหตุก่อโรคกว่า 203 ชนิด

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า วันเข้าพรรษาของทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ” มุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชน เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด นอกจากนี้สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมผู้นำทุกศาสนามีโอวาทมุ่งเน้นให้เห็นผลกระทบด้านลบจากการดื่มสุราด้วย

สธ.แนะวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม”  

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ประจำปี 2566 เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมเชิญชวนให้ร่วม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” คือ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว เป็นการช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือน ลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ดื่ม ครอบครัว และสังคม เช่น อุบัติเหตุ พิการ บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ติดเหล้าทำสูญเสียค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 3,722บาท/เดือน

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย พ.ศ. 2565 พบว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่านักดื่มในปี พ.ศ. 2564 เสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 2560 เกือบ 2 เท่าและแนวโน้มของการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงมากขึ้นในช่วงรอบการสำรวจปี พ.ศ. 2560 และพ.ศ. 2564 ผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722บาท/เดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย340 บาท/วัน

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ ประกอบด้วย การเสวนาประเด็น “สุรากับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ในมุมมองด้านสุขภาวะ”, การเทศนาธรรม “เลิกดื่มเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยพระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปุญโญ), นิทรรศการผลงานของบุคคลและองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา” ผ่านระบบลงนามออนไลน์ http://noalcohol.ddc.moph.go.th/ ร่วมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำไปสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต   

    

แนะบังคับใช้กม.ควบคุมสุราให้เข้มงวดทั้งทางตรงและทางอ้อม

ด้าน นายธีระ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า การลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบการอนุญาตให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มจากกฎกระทรวงที่ผ่าน ครม. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 และอาจมีแนวโน้มที่จะลดเงื่อนไขการอนุญาตลงอีกในอนาคต ซึ่งมีข้อดีในการช่วยลดการผูกขาดทางการตลาด แต่มีส่วนที่ควรดูแลควบคู่กันคือการที่จะทำให้เกิดการโหมโฆษณาเพื่อแข่งขันทางธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบริโภคซึ่งน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องดูแลให้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ. 2551 มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดย สสส. จะเดินหน้าสร้างความรอบรู้และการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ผลกระทบสุขภาพและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เน้นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ควบคุมจุดจำหน่าย ความหนาแน่นของร้านค้า การกำหนดโซนนิ่ง การพิจารณาการออกใบอนุญาต/ต่อใบอนุญาต การควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น