ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำสถานพยาบาลเอกชนเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ช่วงวันหยุดยาว 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 เน้นทุกแห่งยึดหลักมนุษยธรรม ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยทุกราย ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย UCEP  

วันที่ 27 ก.ค. 2566 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) เป็นนโยบายของภาครัฐที่มีคุณประโยชน์ ในการสร้างความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งในปีนี้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ อีก 1 วัน เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่อง จึงทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องยาว 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566

ส่งผลให้ทั่วประเทศมีการเดินทางกันกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างคับคั่ง จึงอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที ลดการสูญเสียของผู้ป่วยและครอบครัว กรม สบส. จึงดำเนินการแจ้งเวียนให้สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ มีการปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน

โดยอาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง ซึ่งกรม สบส.จะมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบการดำเนินการของสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งอย่างใกล้ชิด หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที 

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ. หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง)

ซึ่งอาจจอยู่ในเกณฑ์สีเหลืองหรือสีเขียวก็จะต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่