ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กสพท แถลงข่าวการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรง ปีการศึกษา 2567 ของ กสพท เผยความเปลี่ยนแปลง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตจะตัดคุณสมบัติสายวิทยาศาสตร์ออก 

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) และพญ.นันทนา ศิริทรัพย์ เลขาฯ กสพท และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรง ปีการศึกษา 2567 ของ กสพท

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระบบรับตรง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นมา จนปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 19 โดยมีวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชกร เป็นวิชาที่ทุกคนให้ความสนใจ แต่จำนวนรับนักศึกษามีจำกัด จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยปีนี้ใช้ระบบ TCAS รอบ 3 เหมือนปีที่ผ่านมา ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัครผ่านทางเว็บไซต์ จึงมั่นใจได้ว่า กระบวนการสอบ ทำด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ด้วยคณะกรรมการทุกขั้นตอนในการจัดการทุกอย่าง นอกจากมิติของตัวเรา ครอบครัว ก็ต้องมองในมิติของทรัพยากรทั้งประเทศด้วย

รศ.นพ.สรนิต กล่าวว่า ในวันที่ 16 ธ.ค. 2566 เป็นวันที่สอบ TPAT 1 วิชาเฉพาะ กสพท หากมองโดยภาพรวม กติกาเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ให้ยึดถือหลักการของเดิมได้ ทั้งนี้ การสอบวิชาชีพยังอยู่ในระบบ TCAS รอบ 3 ในปีนี้มีสำนักวิชาและคณะวิชาต่าง ๆ ของแพทย์ 18 สถาบัน ทันตแพทย์ 14 สถาบัน สัตวแพทย์ 11 สถาบัน เภสัช 13 สถาบัน รวมทั้งหมด 66 สาขาวิชา 

ที่ประชุมองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) มีมติให้ปีนี้ปลดล็อคคุณสมบัติสายวิทย์ฯ

"ปีนี้ประกาศจำนวนรับอยู่ที่ 2,380 คนโดยประมาณ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในช่วงใกล้ ๆ แต่จะไม่น้อยกว่านี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 2,308 คน คุณสมบัติการศึกษายังหลักการเหมือนเดิม แต่ปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ทันตแพทย์จะตัดคุณสมบัติสายวิทยาศาสตร์ออก สาขาไหนก็สมัครได้ ทุกสาขาเข้าได้หมด ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และสัตวแพทย์" รศ.นพ.สรนิต กล่าวและว่า ในปีนี้มีสถาบันที่เข้าร่วมเพิ่มเติม ทำให้จำนวนที่รับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ได้แก่ 

  1. วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  3. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  4. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 

รศ.นพ.สรนิตเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การสอบ ข้อสอบยังเหมือนเดิม โดยวิชาที่จัดสอบ TPAT 1 มีน้ำหนัก 30 เปอร์เซนต์ วิชาสามัญ (A-level) 70 เปอร์เซนต์ คาดว่าจะมีการจัดสอบช่วงเดือนมีนาคม 2567 แนวทางการคัดเลือก TPAT 1 รับสมัคร 1-20 ก.ย. 2566 โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สอบในรูปแบบกระดาษทั้งหมด ในเวลา 8.30-12.30 น. วันที่ 16 ธ.ค. 2566 ฉบับที่ 1 เวลา 75 นาที ฉบับที่ 2 เวลา 60 นาที และฉบับที่ 3 เวลา 60 นาที ค่าสมัคร 800 บาท และประกาศผลต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือประมาณวันที่ 5 ก.พ. 2567 ส่วนสนามสอบจะใช้คล้ายเดิม มีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น กรุงเทพฯ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อาจจะเปลี่ยนไปสอบที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และมีเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง เพื่อแบ่งเบาคนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังเหมือนเดิม ได้แก่

  • เชียงใหม่ 
  • ขอนแก่น 
  • สงขลา 
  • พิษณุโลก 
  • ชลบุรี 
  • นครราชสีมา 
  • อุบลราชธานี 
  • นครนายก 
  • นครศรีธรรมราช 

ส่วนอุปกรณ์การสอบเตรียมให้เหมือนเดิม ขอให้ผู้เข้าสอบเตรียมบัตรประชาชนและปรินท์บัตรประจำตัวสอบมาแสดง เตรียมเอกสารอัปโหลดโดยใช้บัตรประชาชนที่ลงนามรับรอง ใช้รูปถ่ายเหมือนกับการทำวีซ่า ส่งมาในเวลาที่กำหนด ในวันสอบยังมีห้องสอบสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด การแต่งกายขอให้เป็นชุดสุภาพตรงกับสถานะปัจจุบัน และขอให้ติดตามข้อมูล อ่านประกาศให้ละเอียด หากผิดกติกามีการตัดสิทธิ์ทันที

รศ.นพ.สรนิต ยังได้กล่าวถึงปัญหาและภาระงานของแพทย์ รวมถึงการลาออกระหว่างการใช้ทุนของแพทย์ ว่า ปัจจุบันการทำงานของแพทย์ยังคงเหมือนเดิม ภาระงานไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม การคงแพทย์ไว้ในระบบหรือการเพิ่มแพทย์ไม่ใช่การแก้ปัญหา ปัจจุบันการรับแพทย์เข้าศึกษาต่อมีการคำนวณเข้ากับอัตราส่วนของประชากรอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบขณะนี้เป็นเรื่องของการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจุกตัว อยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก การรับแพทย์เพิ่มจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา โดยปัจจุบันแพทย์หนึ่งคนใช้งบลงทุนโดยรัฐให้การสนับสนุนในการศึกษาต่อคน ปีละ 300,000 บาท แพทย์หนึ่งคนเรียน 6 ปี ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท สำหรับสัดส่วนของแพทย์ที่ลาออกระหว่างการใช้ทุนยังคงพบว่า ไม่ได้มากไปกว่าเดิม แต่ไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้

ด้าน พญ.นันทนา ย้ำว่า ครั้งนี้มีจุดที่เปลี่ยนแปลงเรื่องคุณสมบัติการสมัครสอบ ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครมากขึ้น มีสนามสอบเปลี่ยนที่ ขอให้อ่านประกาศทุกฉบับอย่างละเอียด ดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และติดตามข้อมูล กรณีเกิดการเปลี่ยนแปลง 

ทั้งนี้ ประกาศ ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1 เรื่อง หลักเกณฑ์การการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาฯ กสพท ปีการศึกษา 2567 และ ประกาศ ฉบับที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 เรื่อง หลักเกณฑ์การสมัครและสอบ TPAT1 (วิชาเฉพาะ กสพท) ปีการศึกษา 2567 สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ https://www9.si.mahidol.ac.th/

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org