ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หนึ่งในบุคลากรสาธารณสุข ผู้ปฏิบัติงานโควิด กลุ่มตกหล่นบรรจุข้าราชการรอบแรก ขอผู้บริหาร สธ. แจ้งไทม์ไลน์จัดสรรตำแหน่งว่าง ตำแหน่งเกษียณภายในกระทรวงฯ คงเหลือเท่าไหร่ หลังไม่มั่นใจยังได้บรรจุขรก.โควิดรอบสองหรือไม่  

หลังจากรอคอยกับ “ค่าเสี่ยงภัยโควิด19” สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกสายงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จนล่าสุดได้รับข่าวดีว่า งบประมาณค่าเสี่ยงภัย 2,995.7 ล้านบาทมาถึงกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และกำลังจัดสรร มีกำหนดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 ส่วนที่ยังค้างจ่ายช่วงครึ่งเดือนหลังของมิถุนายน - กันยายน 2565 ต้องรอครม.ชุดใหม่พิจารณา

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป..คือ การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง อีกราว 38,000 อัตรา หลังจากรอบแล้วมีการบรรจุแล้วเสร็จไปแล้วนั้น แต่ปรากฎว่า ยังมีกลุ่มตกหล่นจากรอบแรกอีกประมาณ 2,000 ราย และผู้ปฏิบัติงานโควิดกลุ่มอื่นๆอีก  จึงมีการเสนอขออัตราตำแหน่งใหม่ด้วยการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิดรอบ 2 เกิดขึ้น แต่จน ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ให้ข้อมูลว่าขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรตำแหน่งภายในให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

กลุ่มตกหล่นบรรจุขรก.โควิดรอบแรก ขอไทม์ไลน์

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายวรัญญู พรหมเพ็ญ  นักวิชาการสาธารณสุข หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานโควิดที่พลาดการบรรจุรอบแรก ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า  ตอนนี้ทางกลุ่มไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป เพราะจากการติดตามข่าวทราบเพียงว่า การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ยังไม่ยกเลิก และทางสำนักงาน ก.พ. ย้ำว่าให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรตำแหน่งภายในก่อน จึงจะมาพิจารณาตัวเลขบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ปัญหาคือ พวกตนไม่รู้ว่า ไทม์ไลน์ของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง เป็นอย่างไร ทราบแค่ว่า ต้องจัดสรรตำแหน่งว่าง ตำแหน่งเกษียณ

พวกตนเป็นนักวิชาการสาธารณสุข และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโควิด ก่อนหน้านี้กลุ่มตนเป็นลูกจ้างรายวัน แต่ได้มีการปรับเป็นลูกจ้างรายเดือนและได้รับเลขตำแหน่งในระบบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งขณะนั้นมีการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิดรอบแรก กำหนดเกณฑ์ต้องมีการจ้างบุคลากรตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 ทำให้พวกตนพลาดโอกาสบรรจุตั้งแต่รอบแรก  ซึ่งมีประมาณกว่า 100 คน แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายการบรรจุข้าราชการรอบสอง และทางพวกตนได้ร้องทุกข์ต่อกระทรวงฯ  จึงทำให้มีความหวังว่า จะได้บรรจุในกลุ่มตกหล่นด้วย 

“การบรรจุเป็นข้าราชการถือเป็นความหวังสูงสุดของสายงาน เรามีความหวังกับเรื่องนี้มา กระทั่งมาถึงทุกวันนี้ ข่าวว่าต้องรอการจัดสรรตำแหน่งภายในกระทรวงฯก่อน ปัญหาคือ พวกเราไม่รู้ไทม์ไลน์เลยว่า จัดสรรถึงเมื่อไหร่แล้ว ได้กี่ตำแหน่ง และจะมีแนวโน้มของการบรรจุโควิดรอบสองอีกหรือไม่ เราขอแค่ผู้บริหารกระทรวงฯ ช่วยบอกไทม์ไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเราที่ทำงานโควิดมาตลอดสบายใจขึ้น” นายวรัญญู กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กลุ่มตกหล่นในสายนักวิชาการสาธารณสุขมีจำนวนเท่าไหร่ นายวรัญญู กล่าวว่า หากเป็นกลุ่มที่ได้รับเลขตำแหน่งหลังวันที่ 15 มีนาคม 2563 ซึ่งเกินเกณฑ์บรรจุโควิดมา 15 วัน ณ ขณะนั้นมีกว่า 100 คน แต่เมื่อมีการติดตามทวงถามระบบ ทางสธ.บอกว่า จะอยู่ในกลุ่มตกหล่น พวกตนก็มีความหวัง ซึ่งมาตอนนี้จำนวนตัวเลขกว่า 100 คนอาจเปลี่ยนแปลง เพราะยังไม่ได้สำรวจทั้งประเทศ แต่บางคนรอไม่ไหว ท้อใจ มีลาออกไปแล้ว บางคนสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่นได้เอง บางคนขอถ่ายโอนไปท้องถิ่น แต่ก็ยังมีคนที่ยังรออยู่  

“ที่ผ่านมาเคยทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังจังหวัด ซึ่งทางจังหวัดบอกให้รอการดำเนินการของกระทรวงฯ ก่อน โดยมองว่าอาจจะเข้าได้กับกลุ่มปี 63 ซึ่งมีเลขตำแหน่งว่างอยู่ พวกเราก็รอว่า จะอยู่ในการจัดสรรตำแหน่งว่างด้วยหรือไม่ แต่ก็ยังไม่ได้ จึงไม่แน่ใจว่า ไทม์ไลน์การจัดสรรตำแหน่งว่างในส่วนของเราจะเป็นอย่างไร หรือจะต้องรออยู่ในการเสนอการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ตอนนี้มีความกังวลกันมาก ขอให้กระทรวงฯช่วยบอกพวกเรา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่พวกเรา” นายวรัญญู กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากเรื่องบรรจุข้าราชการโควิดแล้ว เรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิดเรามีปัญหายังไม่ได้ด้วยหรือไม่ นายวรัญญู กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ทางกลุ่มได้รับค่าเสี่ยงภัยโควิดแล้ว เหลือกรณีค้างจ่าย ซึ่งก็เป็นไปตามข่าวที่กระทรวงฯ เคยให้ว่า จะมีการเสนอครม.ต่อไป ซึ่งตรงนั้นเราเข้าใจ ตอนนี้เรากังวลเรื่องบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง เรื่องบรรจุข้าราชการกลุ่มตกหล่น เราไม่สบายใจอย่างมาก

สมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทยรอหารือการบรรจุกลุ่มตกหล่น

ด้าน น.ส.ธีรานันท์ จันทรมานนท์  ฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล Hfocus เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางเจ้าพนักงานเวชสถิติในแต่ละจังหวัดได้มีการประสานหารือร่วมกับทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ในการจัดสรรตำแหน่งว่างภายในจังหวัดนั้นๆ  ยกตัวอย่าง จังหวัดพิจิตร ได้มีการหารือร่วมกับทาง สสจ.เช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขส่งหนังสือกลับมาว่า ตำแหน่งเจ้าพนักงานเวชสถิติให้รอตาม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ รอตำแหน่งเกษียณ หรือตำแหน่งว่างในการพิจารณาจัดสรรก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนภาพรวมเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ทางสมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทยจะมีการหารือว่า จะมีแนวทางอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม เดิมทีตำแหน่งเจ้าพนักงานเวชสถิติควรได้รับการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด ตั้งแต่รอบแรก แต่ปรากฎว่าเกิดการตกหล่นทำให้ต้องไปอยู่ในการบรรจุรอบสอง ขณะนั้นมีประมาณราว 700 คน ซึ่งได้เคยหารือร่วมกับทางสธ.พิจารณาว่า อาจได้รับการบรรจุรอบสองแต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วนประมาณ 60% หรือคิดประมาณ 455 คนต้องได้รับการบรรจุข้าราชการรอบสอง แต่แนวทางขณะนี้ ทางก.พ. และสธ.จะให้จัดสรรตำแหน่งภายใน โดยใช้ตำแหน่งว่าง ตำแหน่งเกษียณก่อนในแต่ละพื้นที่ก่อน

“ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาว่า หลังจากมีการจัดสรรตำแหน่งว่างแล้ว เจ้าพนักงานเวชสถิติกลุ่มตกหล่นจากการบรรจุโควิดรอบแรก จะได้บรรจุข้าราชการกี่คน และเหลืออีกกี่คนที่ไม่ได้ ซึ่งก็ต้องมาดูแนวทางต่อไปว่าจะทำอย่างไร โดยทางสมาคมเวชสถิติฯ จะนำเรื่องเข้าพิจารณาหาทางต่อไป” น.ส.ธีรานันท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นการบรรจุข้าราชการโควิด เป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขกันมากตั้งแต่สมัยบรรจุรอบแรก เนื่องจากในพื้นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกลุ่มตกหล่น กรณีการบรรจุที่ค่อนข้างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการตกหล่นกลุ่มที่ปฏิบัติงานโควิดอื่นๆหรือไม่ เนื่องจากเลขตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง ฯลฯ  จนนำมาสู่การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง

แฟ้มภาพ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการบรรจุข้าราชการโควิดรอบแรกนั้น เป็นไปตามคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา  ยังไม่รวมการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 อีก 5 สายงาน รวม 7,579 อัตรา มีนายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดในรอบแรกมีการบรรจุทั้งสิ้น 45,654 อัตรา
 
ประเด็นสวัสดิการบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะช่วงโควิด19  จึงเป็นเรื่องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องผูกพันมาตั้งแต่โควิดระบาดแรกๆ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร แน่นอนว่า เรื่องนี้จะต้องข้ามไปยังรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่ รับไม้ต่อหลังจากนี้...

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-บุคลากรสธ.โล่ง! ล่าสุดเลขาฯ ก.พ.ยืนยันไม่มีการยกเลิกบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง

-คนทำงานโควิด "กลุ่มตกหล่น" ร้องบรรจุขรก.รอบสอง จ่อรวมรายชื่อเสนอ ”นายกฯ - อนุทิน” ช่วยเหลือ

-เจ้าพนักงานเวชสถิติกลุ่มตกหล่นบรรจุข้าราชการรอบแรก วอน "สาธิต" ช่วยเร่งรัด ก.พ. บรรจุโควิดรอบสอง

-พรรคเพื่อไทยรับข้อเรียกร้องดันบรรจุข้าราชการ -ค่าเสี่ยงภัยโควิด ด้านสธ.เผยดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว