ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยโควิด19 ไทยยังเป็นโอมิครอน XBB.1.16  ส่วนสายพันธุ์ EG.5 แนวโน้มเบียดขึ้นในอนาคต เหตุ 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยเพิ่มจาก 15 ราย ล่าสุดรวมผู้ติดเชื้อ 23 ราย ส่วน XK.3 พบใน 12 ประเทศแต่ไทยเจอ 2 ราย  ขณะที่สายพันธุ์ BA.2.86 นักวิทย์ต่างชาติระบุเจอในน้ำเสียกทม. อาจเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมคล้าย

 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทยและโอมิครอน HK.3   ว่า สถานการณ์โควิด ณ ปัจจุบัน คนใช้ชีวิตเกือบปกติแล้ว เพียงแต่ทางวิทยาศาสตร์ยังต้องติดตามข้อมูล โดยองค์การอนามัยโลกยังจัดชั้นโอมิครอนเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้จัดชั้น 2 กลุ่ม คือ VOI ที่น่าสนใจ มี 3 ตัวคือ XBB.1.5 , XBB.1.16  ซึ่งจำนวนการระบาดค่อนข้างเยอะ และ EG.5 ซึ่งเป็นน้องใหม่สักพักแล้ว โดยไทยพบประมาณ 23 ราย ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง VUM มี 7 สายพันธุ์ ซึ่งตัวเดิม คือ BA.2.75, BA.2.86, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1   XBB.1.9.2 และ XBB.2.3

โควิดสายพันธุ์ EG.5 แนวโน้มเบียดตัวอื่นในอนาคต

“ในแต่ละสัปดาห์พบว่า XBB.1.15 ลดลงชัดเจน ส่วนที่ยังพบขึ้นๆลงๆ ก็มี XBB.1.16   BA.2.75 ฯลฯ แต่สายพันธุ์ที่ขึ้นชัดเจน คือ EG.5 ตัวนี้น่าจะเบียดตัวอื่นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา(ตรวจเป็นรอบเพื่อส่ง GISAID) โดยก่อนหน้าที่เราเจอ EG.5 เจอไป 15 ราย ขณะนี้เจอเพิ่มอีก 8 ราย รวมทั้งหมด 23 ราย จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย แต่ ณ ปัจจุบันไทยยังเจอ XBB.1.16” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ย้ำ! โควิด HK.3 เจอในไทย 2 ราย

อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวอีกว่า การถอดรหัสพันธุกรรมของกรมฯ ได้ประสานทั่วประเทศ ตรวจทุกเขตสุขภาพ และทางกรมฯ ทั้งนี้ สำหรับข่าวที่ระบุว่า เจอสายพันธุ์ HK.3 นั้น เมื่อสืบค้นพบว่า จริงๆ คือ EG.5.1.1.3 กล่าวคือไม่ได้โผล่สายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ โดยปัจจุบันพบใน 12 ประเทศ มีเยอะสุดคือ จีน ส่วนไทยเราพบ 2 ราย ไม่ใช่ 3 รายตามข่าว

 

ผู้ป่วยโควิด HK.3 จำนวน 2 รายครอบครัวเดียวกัน หายดีแล้ว

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของ HK.3 นั้น พบการกลายพันธุ์ตรงโปรตีนหนาม เปลี่ยนตำแหน่ง 455 จาก L ไปเป็น F และบางส่วนสลับจาก F ไปเป็น L โดยมีข้อสันนิษฐานว่า จะเพิ่มความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ แพร่เชื้อเร็วขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามข้อมูลต่อไป และขอย้ำว่า ประเทศไทยเจอ 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน สัญชาติไทย อยู่ในกทม.  เป็นเพศชายอายุ 65 ปี และเพศหญิงอายุ 11 ปี  ขณะนี้หายดีแล้ว ไม่ได้มีอาการหนักอย่างไร

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีการพูดกันว่า ภาพรวมการติดเชื้อ HK.3 จะติดเชื้อเร็วกว่าเดิม 66% ส่วนประเทศไทยจะติดเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 ถึง 95%  ซึ่งขอย้ำว่า การคำนวณเปอร์เซ็นต์นั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ขณะนี้ไทยพบเพียง 2 รายจะบอกว่าติดเชื้อเร็วกว่าถึง 95% ถือเป็นข้อสรุปเร็วไปหน่อย สิ่งสำคัญขอให้รอดูสถานการณ์อีก 2 สัปดาห์จึงจะบอกได้มากขึ้น

ข้อมูลสายพันธุ์ BA.2.86 ในน้ำเสียกรุงเทพฯ

“ส่วนสายพันธุ์ BA.2.86 ที่พบ 21 รายในฐานข้อมูล GISAID ซึ่งเป็นรายงานพบจากทั่วโลก  โดยข้อมูลนี้มาจากนักวิทยาศาสตร์ Dr.Leshan ไปสุ่มตรวจน้ำเสียเก็บจากกรุงเทพมหานครในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และนำมาถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อหาเชื้อ จนบอกว่ามีสายพันธุ์ BA.2.86  ซึ่งของไทยเจอแต่ในน้ำ ไม่ได้เจอในผู้ป่วย จริงๆ ได้มีการสอบถามข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ บอกว่า สรุปแบบนี้ไม่ได้ ต้องตรวจในผู้ป่วย เพราะการตรวจในน้ำ อาจเจอสารพันธุกรรมที่คล้ายไวรัสตัวนี้ได้ สรุปคือ ประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยแต่รายเดียว แต่เราก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป ส่วนข้อมูลความรุนแรงสายพันธุ์นี้ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าสายพันธุ์ EG.5 แพร่เร็วและรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ความรุนแรงยังไม่เห็นมากขึ้น ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ข้อมูลพวกนี้จำเป็นต้องรอจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากให้สันนิษฐานก็เหมือนตัวอื่นๆก่อนหน้าที่แพร่เร็วขึ้น แต่ไม่รุนแรง ซึ่งทุกวันนี้ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการรุนแรง

"เรื่องวัคซีนป้องกันโควิดนั้น แม้โควิดจะกลายพันธุ์ และวัคซีนมีผลลดลงบ้าง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรง การป่วยหนักได้อยู่...แต่ยุคนี้คนส่วนใหญ่ได้วัคซีนแล้ว ปัญหาก็จะไม่มากเหมือนโควิดระบาดแรกๆ ส่วนการฉีดวัคซีนยังแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงทุกปี" นพ.ศุภกิจ กล่าว