ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ. ฝากแพทยสภาคัด เด็กม.ปลายแต่ละจังหวัดหนุนเรียนแพทย์ป้อนชุมชน หวังผลิตเป็น 'หมอประจำถิ่น' อนาคตหมุนเวียน รพ.สต.แห่งละ 3 คน ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางหาหมอของประชาชนในชนบท  

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เข้าร่วมงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day) และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety ประจำปีงบประมาณ 2566 จัดโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ 16 องค์กร โดยมอบประกาศนียบัตร สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566  

นายสันติ กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยฯ และประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยบุคลากรและประชาชน ระยะที่ 2 : 3P Safety Strategy ว่า การจัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 สะท้อนถึงความตื่นตัวของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญของความปลอดภัยผู้ป่วย ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ปีนี้ ให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในทุกมิติเรื่องความปลอดภัยของตนเอง รวมถึงครอบครัวและญาติในการดูแลให้มีความปลอดภัย พลิกแนวคิดจากการออกแบบการดูแลเพื่อผู้ป่วย เป็นการออกแบบการดูแลร่วมกับผู้ป่วย หรือ Engaging patients for patient safety สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว และประชาชน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 ที่มีเป้าหมายลดความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในระบบบริการ เปิดกว้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและประชาชน ตั้งแต่การปฏิบัติโดยการเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ไปจนถึงระดับนโยบาย โดยร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน  

งานนี้ยังตรงกับวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) แสดงถึงความก้าวล้ำและการเป็นผู้นำทางความคิดของประเทศไทย ที่ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ซึ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นที่ตระหนักแล้วว่า ผู้ป่วยอาจไม่ปลอดภัยหากบุคลากรทางการแพทย์ไม่ปลอดภัย 

นายสันติ กล่าวด้วยว่า การจัดงานในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการออกแบบการบริการในทุกมิติ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้ผู้ป่วยเป็นหนึ่งในเสียงของการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety ทั้งนี้ ขอชื่นชม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยเพื่อทุกคน

""รมช.สันติ" เผยแนวคิดผลิต   "หมอประจำถิ่น"    อนาคตหมุนเวียน รพ.สต.แห่งละ 3 คน"

"ผมมีความชื่นชมและให้เกียรติทุกภาคส่วน ให้ความเคารพนับถือเรื่องความเสียสละ และจรรยาบรรณของแพทย์ทุกคนที่ทำงานอย่างมุ่งมั่น ผมได้เป็น ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปีพ.ศ.2538 ได้ทำงานร่วมกับแพทย์ในพื้นที่จำนวนมาก ประชาชนในชนบท เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ได้รับการรักษาโดยใช้ทุนทรัพย์น้อยมาก ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างมาก แต่บุคลากรทางการแพทย์ในชนบทขาดแคลน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องออกจากหมู่บ้านเหมารถไปโรงพยาบาล ผมเคยรู้มาว่า ชาวบ้านต้องออกจากหมู่บ้านตั้งแต่ตี 4 จ้างรถสองแถวไปที่อำเภอหรือจังหวัด เพื่อกดบัตรคิว รอจนได้ตรวจ บางคนรอถึงบ่าย 2 กลับถึงบ้านตอนบ่าย 3 ประชาชนจึงฝากผมมาว่า ค่าเช่ารถ 2,500-3,000 บาท ต้นทุนตรงนี้หนักหนา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังใช้แพทย์วน ใช้แพทย์จากอำเภอ จังหวัด หรือส่วนกลาง วนไปประจำที่ รพ.สต. จึงมีแนวคิดให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. ให้ได้แห่งละ 3 คน" นายสันติ กล่าว

เปิดแนวทางสร้าง "หมอประจำถิ่น" หวัง หมุนเวียนรพ.สต.แห่งละ 3 คน

นายสันติ เพิ่มเติมว่า รพ.สต. ในประเทศไทย รวมแล้ว 8,500 ตำบล ควรมีแพทย์หมุนเวียนกว่า 25,000 คน หากลงทุนวันนี้ กว่าจะมีแพทย์ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี เป็นไปได้ไหมที่จะคัดเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในแต่ละจังหวัดมาสอบ เช่น จังหวัดนี้ใช้แพทย์ใน รพ.สต. 300 คน หาร 6 ปี ตกปีละ 50 คน คัดเอาเด็ก 50 คนเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งกว่าจะได้แพทย์มาลงพื้นที่ให้ครบต้องใช้เวลาประมาณ 12 ปี จากนั้นให้กลับมาทำงานที่อำเภอหรือตำบลในจังหวัดเดิม เพื่อให้ได้บุคลากรประจำถิ่น สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในพื้นถิ่น จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังแพทยสภา 

ข้อดีมีหมอใกล้บ้านในชุมชน ลดภาระค่าเดินทางของประชาชน

"หากยอมทุ่มงบประมาณสักแสนล้าน ผลิตแพทย์ 25,000 คน คำนวณว่า คนละ 4 ล้านบาท เป็นเรื่องจำเป็น จะช่วยลดค่าเดินทางของคนในชนบทได้ เรื่องนี้เกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างยิ่ง หากเป็นโควิด แล้วมีแพทย์ประจำที่ รพ.สต. ก็ไม่ต้องเดินทางไกลไปที่จังหวัด ลดการแพร่เชื้อระหว่างทาง ถ้าคิดภาพรวม เสียเงินแสนล้าน ก็สร้างความปลอดภัย ลดต้นทุนในการดำรงชีพ นอกจากนี้ หากผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น มีแพทย์ที่เรียนเฉพาะทางได้ไปทำงานต่างประเทศ การส่งแรงงานทางการแพทย์ไปยังต่างประเทศ ก็เป็นการหาเงินเข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย" นายสันติ กล่าว

*ทิศทาง 3P Safety

ทั้งนี้ 3P Safety คือ การกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ สรพ.ภายใต้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 โดยตั้งเป้ายกระดับการรับรองมาตรฐาน HA ของไทยให้อยู่ในระดับสากล พร้อมพัฒนาระบบความปลอดภัย จาก 2P Safety ที่ประกอบด้วยความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารสุข ขึ้นไปเป็น 3P Safety ที่เพิ่มระดับความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน
3P Safety ประกอบไปด้วยดังนี้

  • Patient – ผู้ป่วย
  • Personal – บุคลากรทางการแพทย์
  • People – ประชาชน

ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยหรือ 3P Safety เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องใช้ “หัวใจ” เดินไปด้วยกัน จึงจะบรรลุเป้าหมายความปลอดภัยทั้งสังคมอย่างแท้จริง

เนื่องด้วยวันที่ 17 กันยายนของทุกปี เป็นวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ซึ่งตรงกับวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Thailand Patient and Personnel Safety Day)  ที่ประเทศไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยการจัดงาน World Patient Safety Day ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเรื่องภายใต้แนวคิด “Engaging patients for patient safety” เป็นประเด็นหลักของการประชุม โดยในอนาคตจะขยับก้าวจาก 2P Safety เป็น 3P Safety ที่ร่วมกันทั้ง Patient Personnel และ People โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org