ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงพยาบาลระนอง เยี่ยมชมการใช้ระบบเทเลเมดิซีนดูแลผู้ป่วยบนเกาะและผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะในเรือนจำ พร้อมหนุนนโยบายสุขภาพ "ให้บริการพื้นที่เฉพาะและห่างไกล" ชี้เป็นตัวอย่างการใช้ระบบการแพทย์ทางไกลได้เกิดประโยชน์สูงสุด

วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นางพนิต มโนการ  ผู้อำนวยการสปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี   เดินทางพื้นที่โรงพยาบาลระนอง จ.ระนอง เพื่อเยี่ยมชมการจัดการระบบสุขภาพแนวใหม่แบบ Telemedicine ผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิในเรือนจำระนองดูแลกลุ่มเฉพาะ และการดูแลผู้ป่วยบนเกาะ  โดยมีนายแพทย์อรุณ สัตยาพิศาล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง และทีมสหวิชาชีพให้การต้อนรับ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งระบบการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีนก็เป็นหนึ่งในรูปแบบบริการที่ สปสช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด เพราะเป็นรูปแบบบริการที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการเดินทางมาโรงพยาบาล แต่สามารถให้การดูแลประชาชนได้เป็นวงกว้าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบเทเลเมดิซีนสามารถใช้งานได้จริง โรงพยาบาลต่างๆ ได้นำระบบนี้มาดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 เอง และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและไม่เหมาะที่จะมาโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดของโควิด-19 จะผ่านไปแล้ว แต่การใช้ระบบเทเลเมดิซีนในการดูแลประชาชนยังคงมีความสำคัญและจำเป็นในอนาคต ซึ่ง สปสช. ได้มีการต่อยอดด้วยการขยายกลุ่มโรคให้ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน จากเดิมที่รักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เป็น 16 กลุ่มอาการที่เป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย รวมทั้งวางแนวทางในการขยายการดูแลไปสู่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังในอนาคต

เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า  ระบบเทเลเมดิซีนจะเป็นประโยชน์ที่สุด เมื่อนำมาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เดินทางมายังโรงพยาบาลลำบาก ดังเช่นตัวอย่างของโรงพยาบาลระนอง ที่ได้นำระบบเทเลเมดิซีนมาช่วยในการดูแลประชาชนในพื้นที่เกาะและพื้นที่เฉพาะเช่นผู้ต้องขังในเรือนจำ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิในลักษณะที่ครบวงจร ซึ่งจะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นๆ ในอนาคต

ด้าน นพ.วุฒิชัย จ่าแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลระนอง กล่าวว่า บริบทของจังหวัดระนองนั้นเป็นเมืองที่มีเกาะต่างๆ หลายเกาะ ทำให้การดูแลผู้ป่วยตามเกาะ หรือการที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาโรงพยาบาลเป็นไปอย่างลำบาก เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายต่อ บางครั้งเมื่อเกิดมรสุม ฝนตกหนักน้ำท่วม คนไข้ก็ไม่สามารถมาตามนัดหรือมาไม่ตรงเวลานัด

ขณะที่ในส่วนของเรือนจำ ก็จะมีข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์หลายอย่าง เช่น การนำผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังออกมาโรงพยาบาล ต้องมีคนขับรถ 1 คน มีพยาบาล 1 คน และมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่พาออกมาได้ครั้งละไม่เกิน 2-3 คน/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังกว่า 2,000 คน

นพ.วุฒิชัย  กล่าวว่า  ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลระนองจึงนำระบบเทเลเมดิซีนมาเสริมการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น พยาบาลในเรือนจำสามารถคอนซัลท์แพทย์ของโรงพยาบาลได้ เมื่อมีความเร่งด่วนก็สามารถคอนซัลท์เข้ามาแล้วให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัยอาการเบื้องต้นได้เลย และถ้าจำเป็นต้องพามาโรงพยาบาล ก็ให้ทางพยาบาลเรือนจำเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสัญญาณชีพต่างๆ แล้วเมื่อพาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลก็พบแพทย์เฉพาะทางได้เลยโดยไม่ต้องไปผ่านแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งโรคที่เจอส่วนมากจะเป็นโรคไส้เลื่อน โรคหัวใจ หอบหืด หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ ฯลฯ ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ก็จะประสานพยาบาลเรือนจำให้ทานยาต่อหน้า มีการอบรม อสม. ในเรือนจำเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพเพื่อนผู้ต้องขัง ทำให้สามารถควบคุมอาการโรคได้ค่อนข้างดี

“ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565-ก.ย. 2566 เรามีผู้ต้องขังในเรือนจำรับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีนทั้งหมด 873 ราย และส่งต่อพบแพทย์ในโรงพยาบาลจำนวน 61 ราย หรือประมาณ  6.98%”

เช่นเดียวกับกลุ่มประชากรบนเกาะ พยาบาลที่อยู่บนเกาะก็จะประสานมาทางโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการเบื้องต้น หากจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็จะนัดวันแล้วเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องมาโรงพยาบาล 2 ครั้ง คือมาพบแพทย์ทั่วไปก่อนแล้วถึงมาพบแพทย์เฉพาะทางในครั้งที่สอง รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุก็จะมีความสะดวกมากขึ้น เมื่อพยาบาลบนเกาะคอนซัลท์มา แพทย์ก็จะประเมินเบื้องต้นว่าสามารถรักษาบนเกาะได้เลยหรือไม่ หากรักษาได้ก็ทำการรักษา หากเกินศักยภาพก็นัดมาพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย ไม่ต้องมาหลายรอบและไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอ

ขณะที่ นางชาลิตา พรมมาตย์ พยาบาลวิชาชีพ เรือนจำจังหวัดระนอง กล่าวว่า การใช้ระบบเทเลเมดิซีน สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและเข้าถึงบริการได้รวดเร็วขึ้น และสามารถนัดคนไข้เพื่อพบแพทย์ได้เลยในวันเดียว ส่วนคนไข้ที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลให้เสียเวลา และทำให้ไม่ต้องใช้บุคคลากรในการควบคุมผู้ต้องขังด้วย เพราะการไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องใช้เจ้าหน้าที่ควบคุม 2 คน/ผู้ป่วย 1 คน นั่นเอง