ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ระนองได้รับงบ 150 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ-หออภิบาลผู้ป่วยหนักและผ่าตัดซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มกราคม 2562 รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ลดปัญหาความแออัด เพิ่มจำนวนเตียงและห้องผ่าตัดมากขึ้น ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2560 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอุบัติเหตุ-หออภิบาลผู้ป่วยหนักและผ่าตัดโรงพยาบาลระนอง จังหวัดระนอง เพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ที่ยุ่งยากซับซ้อนรองรับประชาชนที่อยู่ในเขต 11 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในนโยบายการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ในทุกๆ ด้าน ให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้สามารถดูแลผู้ป่วยและประชาชนอย่างมีคุณภาพและประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งจังหวัดระนอง ได้รับการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ 149,359,000 บาท ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ-หออภิบาลผู้ป่วยหนักและผ่าตัดซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มกราคม 2562

สำหรับอาคารนี้เป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,817 ตารางเมตร เป็นอาคารที่มีโครงสร้างต้านแผ่นดินไหว โดยชั้นที่ 1 ห้องผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน (ER) ชั้นที่ 2 ห้องไตเทียมและห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) ชั้นที่ 3 ห้องผ่าตัด (OR) และชั้นที่ 4 ห้องประชุม ส่งผลดีต่อการบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับบริการทุกประเภท 1249 ราย/วัน แยกเป็นจำนวนผู้ป่วยนอกที่มารับบริการเฉลี่ย 1,227 ราย/วัน ผู้รับบริการที่ห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 113 ราย/วัน ลดความแออัด เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นสามารถรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุได้มากขึ้น มีจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักมากขึ้น และมีห้องผ่าตัดที่สะดวกสบายมากขึ้น และประชาชนได้รับการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานในจังหวัดระนอง พื้นที่ใกล้เคียง และนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้โรงพยาบาลระนองเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 300 เตียง ให้บริการดูแลผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน ผู้ป่วยเฉพาะทางบางสาขา ได้แก่ โรคทางอายุรกรรมทั่วไป อายุรกรรมโรคไต ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ตา หูคอจมูก กุมารเวชกรรมทั่วไป สูตินรีเวชกรรม การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ล่าสุดมีอาคารฟื้นฟูสภาพด้วยแพทย์ทางเลือกที่สนองต่อยุทธศาสตร์จังหวัดระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดูแลสุขภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด โดยนำสปาทางการแพทย์กับการแพทย์ทางเลือกมาใช้ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย กลุ่มนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป โดยใช้ธาราบำบัดนำน้ำแร่ร้อนธรรมชาติมาใช้ในสระธาราบำบัดของอาคารฟื้นฟูฯ ด้วยงบ 140 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดบริการครบวงจรในเดือนธันวาคม 2560 ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวจากระบบประสาทและกล้ามเนื้อ จากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กระดูกหัก น้ำหนักมาก และเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวเป็นต้น และยังมีคลินิกกายภาพบำบัดรองรับด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ล่าสุด

จากการพัฒนาครั้งนี้นอกจากจะดูแลประชาชนทั้ง 5 อำเภอในจังหวัดระนอง และอำเภอพื้นที่รอยต่อ เช่น อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร รวมทั้งประชากรพม่าทั้งที่อาศัยในจังหวัดระนองและจังหวัดเกาะสอง ในประเทศพม่า แล้วยังรองรับประชาชนในเขตสุขภาพที่ 11 ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ให้ได้รับการดูสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย