ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” เผยกรณีแต่งตั้ง “หมอก้อย-นวลสกุล” ภรรยาข้างกาย นั่งคณะที่ปรึกษา เหตุพิจารณามีความเหมาะสม ทำงานไม่รับเงินเดือน ช่วยเรื่องสื่อสารการเมืองกับงานสาธารณสุข ย้ำ! ไม่มีอำนาจสั่งการข้าราชการ ไม่ใช่หน้าที่ แต่ให้คำปรึกษาผ่าน รมว.สธ. เพื่อนำข้อเสนอสู่การดำเนินการให้เป็นผลสัมฤทธิ์

 

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 20 กันยายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้ง น.ส.นวลสกุล บำรุงพงษ์ หรือหมอก้อย ภรรยา เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ได้รับเงินเดือน และไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่า   ขอบคุณสำหรับคำถาม จริงๆ ตนไม่ต้องชี้แจงแล้ว เพราะมีการชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก “หมอชลน่าน FC ไม่มีดราม่า” และคุณหมอก้อยเองก็ได้ชี้แจงส่วนตัวไปแล้ว ตนในฐานะผู้แต่งตั้ง ยอมรับว่าจะต้องมีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะธรรมเนียมปฏิบัติไม่ว่ายุคใด หากผู้บริหารตามอำนาจแต่งตั้งญาติ คนใกล้ชิดเข้ามาทำงาน มักจะถูกเพ่งเล็ง ยกเว้นท่าน รมช.สธ. (นายสันติ พร้อมพัฒน์) ท่านไม่ต้องแต่งตั้งภรรยาท่าน เพราะภรรยาท่านได้รับการแต่งตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. อยู่แล้ว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เข้าใจเรื่องนี้มักถูกเพ่งเล็งในมุมผลประโยชน์ทับซ้อน ตนเองก็คำนึงถึงเรื่องนี้พอสมควรก่อนการแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล เป็นที่ปรึกษา แต่เมื่อมาดูเนื้องาน ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ดูเรื่องความรู้ ความสามารถ จึงตัดสินใจลงทุนในเรื่องนี้ เพราะ 1.ตำแหน่งที่ปรึกษา ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการเมือง จึงไม่มีเงินเดือน เป็นคณะทำงานอาสา 2.งานที่ปรึกษามีความจำเพาะ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารทางการเมืองด้านสุขภาพ คุณหมอก้อยมีประสบการณ์ ผอ.กองสารนิเทศสธ.เมื่อปี 2534 มีโอกาสทำเรื่องการสื่อสารในสื่อต่างๆ และ3.ที่สำคัญในช่วงที่ผมเป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า  คุณหมอก้อยมีผลงานสื่อสารทางการเมืองให้ผม 3 ตำแหน่งนี้ ทำให้ผมยืนอยู่ตรงนี้ได้บนกระแสที่ไหลบ่าในโซเชียล ที่มีการประณามหนามเหยียบ การเหยียบย่ำ พูดง่ายๆ ว่ารถทัวร์ แต่การสื่อสารของคุณหมอก้อยสามารถชี้แจงข้อมูลได้อย่างดี เป็นศักยภาพและความสามารถ

“ในกระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่อาจเชื่อมโยงมิติทางการเมืองเข้าไปได้ไม่เต็มที่นัก ตนจึงขอให้คุณหมอก้อยมาเป็นที่ปรึกษา ย้ำว่าไม่ได้มาสั่งการข้าราชการ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน แต่ท่านจะให้คำปรึกษาผ่านตัว รมว.สธ. แล้วนำคำที่ปรึกษานั้น นำสู่การดำเนินการให้เป็นผลสัมฤทธิ์ตามแนวทางที่วางไว้” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การสื่อสารจะอยู่ในทุกแพลตฟอร์มทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชียล และสื่อบุคคล เพราะวงการสาธารณสุขเรา สื่อบุคคลมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะความผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้ป่วยและญาติ เป็นหลุมดำของเรา แม้เราทำดีขนาดไหน แต่หากขณะนี้ทุกคนเป็นสื่อ แล้วนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน ก็จะเป็นภาพลบ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เป็นปัญหาระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ทำให้เกิดการรับบริการไม่ดี เกิดความเครียด เกิดอุบัติเหตุทะเลาะเบาะแวง ผู้ให้บริการกดดันบางที่ถึงขั้นลาออก จึงมีความจำเป็น ผมจึงให้หมอก้อยที่มีประสบการณ์สร้างทีมประชาสัมพันธ์ มาดำเนินการ CareD+ ซึ่งเป็นหนึ่งในควิกวิน (Quick Win) นอกจากนั้น ก็มาช่วยดูแลเรื่องสวัสกิการดูแลบุคลากรด้วย ซึ่งท่านมีประสบการณ์เรื่องนี้

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า  พอดูกิจกรรมแล้ว คุ้มค่าต่อการลงทุน และที่สำคัญเรามีจุดยึดการเป็นผู้ให้เท่านั้น ให้ประเทศ ให้ประชาชน เราจะไม่เป็นผู้รับหรือเอาผลประโยชน์ของชาติ เอาสิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงในบทบาทของเรามาเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ผมขอเรียนกับสื่อมวลชน ว่าผู้ที่คอยระแวดระแวงให้ผม คือคุณหมอก้อย ท่านจะมีสายตา มีทีมงานคอยระเฝ้าดูว่าผมจะได้รับผลกระทบในการทำหน้าที่มากน้อยอย่างไร บุคคลที่จะเข้ามาทำงานกับผม ต้องผ่านการคัดกรองจากคุณหมอก้อยพอสมควร พูดง่ายๆ คนที่จะเข้ามาหาผมจะต้องคลีนพอสมควร จึงมั่นใจว่า ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งสามีภรรยามากินรวบ สธ. จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน จะมีแต่กำไรกับประชาชนในมิติสุขภาพ