ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ลงนามร่วมการบินพลเรือน และ 4 สายการบิน ร่วมขนส่งสารชีวภาพและเชื้อโรคทางอากาศ เพื่อนำส่งตัวอย่างมาถึงห้องแล็บเร็วขึ้นอย่างปลอดภัย ตั้งแต่หีบห่อ การบรรจุ วิธีการขนส่ง ไม่ให้รั่วไหล ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ความเข้มแตกต่างกันตามระดับความอันตรายของเชื้อโรค 4 กลุ่ม และพิษจากสัตว์ 3 กลุ่ม ตั้งเป้าไทยเป็นต้นแบบในอาเซียน

 

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายขจรพัฒน์ มากลิ่น ผู้จัดการสำนักนิรภัยและกำกับมาตรฐานการตรวจสอบ ปฏิบัติการแทน ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ  นางเนตรนภางค์ ธีระวาส ประธานเจ้าหน้าที่สายบริการลูกค้า บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด  น.ต.ดำรง ภาสน์พิพัฒน์กุล ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด นายพิเชษฐ์ บุญพร้อมรักษา ผอ.ส่วนควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ น.ส.บรรจงจิตต์ กันหาเล่ห์ รักษาการ ผอ.ใหญ่ฝ่ายบริการภาคพื้นสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการขนส่งตัวอย่างสารชีวภาพและเชื้อโรคทางอากาศ

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 นอกประเทศจีนรายแรก สะท้อนว่าเรามีระบบเฝ้าระวังที่ดี อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิด 19  มีการกลายพันธุ์ ตั้งแต่เชื้อดั้งเดิม มาเป็นอัลฟา เบตา เดลตา จนถึงโอมิครอน มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมเยอะมาก การจะวินิจฉัยคนไข้ให้ได้เร็ว หลายครั้งต้องอาศัยผลการตรวจแล็บ และเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ๆ การขนส่งดั้งเดิมที่เอาขึ้นรถทัวร์ หรือรถกระบะ หรือรถต่างๆ วิ่งมาจากบางพื้นที่ห่างไกลมาก กว่าจะมาถึงใช้ก็เวลาเป็นวันๆ และอาจไม่ตรงกับรอบในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งการตรวจให้เร็วที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อการออกมาตรการ

ดังนั้น การขนส่งทางอากาศที่มีความรวดเร็วจึงเป็นคำตอบ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีข้อตกลงหรือกฎกติกาต่างๆ ทำกันตามมีตามเกิด แต่กรมฯ มี พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 กำหนดแบ่งเชื้อโรคเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.อันตรายไม่มากหรือไม่มีอันตราย ไม่มีความเสี่ยง 2.เริ่มอันตรายมีความเสี่ยงอยู่บ้าง 3.อันตรายมาก และ 4.อันตรายสุดขีด ซึ่งเชื้อโรคไหนอยู่กลุ่มไหนจะมีคณะกรรมการประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญมากำหนด ส่วนพิษจากสัตว์หรือสารชีวภาพแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ไม่มีอันตรายอะไรมาก มีวิธีรักษา , อันตรายแต่รักษาได้ และอันตรายมากและยังไม่มีวิธีรักษา ซึ่งต้องระวังอย่างยิ่งอาจเสียชีวิตได้

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สารชีวภาพและเชื้อโรคไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จะขนส่งได้ง่ายๆ ฝ่ายสายการบินก็มีกฎกติกาสากลและประเทศ หรือมีเงื่อนไขบางประการ จึงต้องหารือให้เกิดความร่วมมือ การขนส่งจะได้ราบรื่น ว่าจะทำอย่างไรให้การขนส่งสิ่งอันตรายนี้เกิดขึ้นได้ถูกต้องถูกระเบียบ เป็นไปได้ที่จะดำเนินการในไทย ต้องปรับ Packaging หีบห่ออย่างไรให้ไม่เกิดการรั่วไหลของเชื้อหรือสารชีวภาพ เราก็ผลิตมาโดยภายใต้มาตรฐานของระดับโลกที่ยูเอ็นกำหนด กระบวนการขั้นตอนแพคเกจจิ้ง เอาวัตถุตัวอย่างใส่เข้าไปอย่างไร ก้จะมีการดำเนินการตามมาตรฐานทั้งสิ้น และต้องฝึกอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ความปลอดภัยต่างๆ

จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเดินหน้าให้ประเทศไทยกลายเป็นต้นแบบของอาเซียน รวมถึงอาจขยายไปถึงการขนส่งสารชีวภาพและเชื้อโรคทางอากาศระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วยที่ต้องการส่งมาตรวจในประเทศไทย อนาคตต่อไปการขนส่งสิ่งเหล่านี้ทางสายการบินไม่น่าจะมีอุปสรรค ทุกสายการบินก็ยืนยันว่าพร้อมดำเนินการ

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรฐานและขั้นตอนของการบรรจุและขนส่งให้เกิดความปลอดภัยมีรายละเอียดอย่างไร  นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีรายละเอียอยู่แล้ว ขึ้นกับชนิดของสารนั้น ซึ่งเชื้อโรคมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่อันตรายมากสุด จนไม่มีอันตราย หรือพิษจากสัตว์ก้มีหลายกลุ่ม กลุ่มอันตรายมากจริงๆ ฝั่งสุขภาพจะดำเนินการตามาตรฐานของเรา เราอยู่ภายใต้มาตรฐาน ISO อยู่แล้ว กระบวนการที่จะดำเนินการก็จะเป็นไปตามนั้น

 

ด้าน นายขจรพัฒน์กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลและขนส่งสินค้าอันตราย เพื่อให้เกิความปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล โดยเชื้อโรคนับเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 6 สารพิษและสารติดเชื้อการขนส่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด รวมถึงข้อเสนอของสหประชาชาติว่าด้วยการขนส่งวัตถุอันตราย การขนส่งวัตถุอันตรายทางอากาศ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศมีการกำหนดทางเทคนิคที่เป้นมาตรฐานทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สำนักงานมีการออกกฎระเบียบ มาตรการตรวจติดตาม ขั้นตอนปฏิบัติงานของสาายการบินในการขนส่งให้แน่ใจว่า การขนส่งของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ในอดีตยังไม่มีการขนส่งตัวอย่างชีวภาพและเชื้อโรคในประเทศไทย มีแต่การขนส่งระหว่างประเทศที่ปฏิบัติประจำอยู่แล้ว ทำให้ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจถึงขั้นตอนปฏิบัติงานที่ถูกต้อง กรมวิทย์ฯ จึงมีการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจต่อสายการบิน สนามบิน หน่วยบริการด้านสาธารณสุข ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งสารชีวภาพและเชื้อโรคทางอากาศ จึงนำมาสู่การลงนามในครั้งนี้

 

"การขนส่งสินค้าอันตรายนอกจากสารชีวภาพและเชื้อโรคมีมาตรฐานกำกับดูแลในมาตรฐานระหว่างประเทศอยู่แล้ว การกำกับของสำนักงานการบินพลเรือน เราจึงทำความเข้าใจร่วมกับสายการบิน เพื่อให้การขนส่งประเภทอันตรายมีความปลอดภัย มีการตรวจกำกับดูแลตลอดของการออกใบอนุญาตไปเป็นประจำ สายการบินที่ลงนามถือว่ามีความพร้อมแล้ว เราจะพยายามแจ้งสายการบินอื่นที่กำลังขอรับใบอนุญาตขนส่งสินค้าอันตรายให้เข้ามาร่วมตรงนี้เพิ่มเติม" นายขจรพัฒน์กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง