ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์เผยการเลียนแบบต้องเกิดซ้ำภายใน 1 เดือน ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีผลมากต่อการจดจำ ทำให้เกิดคนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในจิตก่อเหตุได้ ขอสังคมหยุดดรามาสร้างความเกลียดชังครอบครัวเด็ก 14 ผู้ก่อเหตุ อย่าขุดคุ้ยประวัติ ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อในสังคม

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุความรุนแรงที่ห้างพารากอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3  นับจากเหตุกราดยิงที่ นครราชสีมา และ ยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งหากมองย้อนไปจะพบว่า มักมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แทบทุกปี    แม้จะต่างกรรมต่างวาระ  แต่ก็เป็นสัญญานว่าจะต้องแก้ไขเชิงระบบเพื่อป้องกัน  มากกว่ามาดราม่าไปกับแต่ละเหตุการณ์  โดยเรื่องปัญหาอาวุธปืน ควรเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธปืนได้ 

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า โดยนิยามของการเลียนแบบ จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน โดยทั้งนี้เห็นว่า  การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนมีผลกับการเลียนแบบ และการจดจำ ทำให้เกิดคนที่มีพฤติกรรม หรือ มีความสุ่มเสี่ยงในจิต อาจก่อเหตุในลักษณะนี้ได้ และเห็นควรให้สังคมลดลงและยุติความเกลียดชังกับครอบครัวผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ย ประวัติครอบครัว เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นเหยื่อในระบบของสังคมนี้ และจะยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล พร้อมเสนอแนวการแก้ไขดังนี้

1.พ.ร.บ.อาวุธปืนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องสะสางอย่างจริงจัง  เนื่องจากมีมานานแล้ว โดยมี รัฐบาลและรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไข ไม่ใช่เน้น การตรวจนับถือครองที่พบว่ามีถึง 12 ล้านกระบอก โดย  พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีมานาน ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

2.บริการสุขภาพจิตที่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้น ซึ่งมักนำไปสู่ความรุนแรง  ควรต้องมีงบประมาณและแผนงานสนับสนุนให้เกิดบริการและกำลังคนอย่างจริงจัง

3. หน่วยงานที่มีผู้ถืออาวุธ ก็ต้องจัดการเชิงระบบในการดูแลบุคคลากร  ไม่ใช่แค่เข้มงวดการอนุมัติการครอบครองอาวุธปืนใหม่  ซึ่งแก้ไขอะไรได้ไม่มาก