ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” ชูบอร์ดพัฒนาสุขภาพระดับชาติ จะแก้ปัญหารอยต่อระหว่างหน่วยงาน อีกทางออกช่วยเชื่อมประสานปัญหาถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ.

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ถึงปัญหาการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด)(อบจ.) จะทำอย่างไรให้เชื่อมประสานอย่างไร้รอยต่อ ว่า  คำว่าเชื่อมประสานอย่างไรให้ไร้รอยต่อเป็นเรื่องที่ดี ต้องกลับไปหลักแรกก่อน คือ เรื่องการถ่ายโอนอำนาจไปท้องถิ่นเป็นกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎบัญญัติตามกฎหมาย แต่จะทำอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทำอย่างไรให้คนที่ทั้งปฏิเสธ ทั้งตอบรับ มีความพร้อม ความเข้าใจที่จะทำหน้าที่ตรงนั้น เช่น คนที่พร้อมไปก็ไปด้วยความเต็มใจ และไปทำงานบนการกำกับดูแลของท้องถิ่น ในมุมการดูแลของประชาชนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ส่วนความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรก็ว่ากันไปตามกฎหมายของแต่ละที่ที่รองรับ ส่วนคนที่ไม่พร้อมจะไป เรามีขั้นตอนอย่างไรที่จะเตรียมความพร้อมเขา หากเขาพร้อมและถ่ายโอนไป

“ในมุมของนโยบายกระทรวงฯ และตัวผมเอง ในฐานะรัฐมนตรีฯ  เราจะไม่ใช้วิธีการที่เน้นตัวบุคคลที่จะถ่ายโอน แต่จะเน้นเชิงระบบและเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และระบบเข้าไปดำเนินการ เพื่อลดการแบ่งแยกว่า ฉันอยู่กระทรวงสาธารณสุข ฉันอยู่ท้องถิ่น ถ้าลดตรงนี้ได้ก็จะรู้สึกว่า เขาก็เป็นหมอของชาวบ้าน และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องสนับสนุนเขา ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  เอาประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ไม่มองแค่ว่าจะอยู่ได้หรือไม่จะก้าวหน้าหรือไม่ ต้องเอางานเป็นตัวตั้ง และเราจะเข้าไปสนับสนุน ไปแก้ไขสิ่งที่เขาคาดหวังต่างๆ โชคดีที่เรามีคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติในเชิงนโยบายจะนำเรื่องนี้มาคุยกันว่า คนที่ถ่ายโอนไป ทั้งความก้าวหน้าต่างๆจะทำอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกว่าด้อยลง ได้มากขึ้นหรือเท่าเดิมต้องมาคุยกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ จะเชื่อมโยงแต่ละหน่วยงานให้การทำงานไร้รอยต่ออย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นการเชื่อมโยงบูรณาการการให้บริการในมิติสุขภาพของทุกหน่วยงาน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หลายกระทรวงไม่ได้รักษาผู้ป่วย แต่ก็เป็นผู้กำหนดสุขภาพเราได้ ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เราทำเรื่องเสนอท่านนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่ช่วงกันยายนที่ผ่านมา โดยท่านนายกฯ ลงนามในการแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว หลังจากลงนามแล้วก็จะมีการกำหนดนัดหมายการประชุม เพื่อกำหนดภารกิจตามหน้าที่และอำนาจที่มี ซึ่งจะได้กระจายสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า แต่ละฝ่ายจะทำอะไร อย่างไร

 

สัมภาษณ์พิเศษ : “หมอชลน่าน” กับนโยบาย ‘สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข’ ทำได้จริงแค่ไหน..อย่างไร (คลิป)