ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงแรงงาน ร่วมรับร่าง 8 แรงงานไทยจากสถานการณ์อิสราเอล โดยทุกร่างเคลื่อนกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูมิลำเนา ส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่นที่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายกลับไทย อยู่ในระหว่างการพิสูจน์อัตลักษณ์ที่อิสราเอล  ย้ำทายาทของแรงงานเสียชีวิต สามารถรับสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนทำงานต่างประเทศ  

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่อาคารสำนักงานเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานรับร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล  พร้อมร่วมวางพวงหรีดแสดงความอาลัย โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมพิธี    

นายไพโรจน์  กล่าวว่า  ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลอย่างยิ่ง   กระทรวงแรงงานมาร่วมรับศพแรงงานไทยซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งร่างแรงงานไทยชุดแรกจำนวน 8 ราย มาพร้อมกับแรงงานไทย จำนวน 266 คน ทางสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 083 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 09.40  น. ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่อยู่ในจังหวัดภูมิลำเนาของแรงงานไทยได้ประสานครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อรับร่างแรงงานทุกรายกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ภูมิลำเนาในจังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ และสุโขทัย

ทายาทแรงงานไทยที่เสียชีวิตสามารถรับสิทธิประโยชน์จากกองทุน

“ทายาทของแรงงานไทยที่เสียชีวิต จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท และมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของอิสราเอล  โดยภรรยาตามกฎหมาย จะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน ประมาณ 50,000 บาท และบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคน ได้รับเงินช่วยเหลือประมาณ 8,000 – 16,000 บาท (ตามค่าเงินขณะนั้น) ขึ้นกับอายุและความพึ่งพา ซึ่งจะได้รับทุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์ ทางการอิสราเอลได้ดำเนินการพิสูจน์มาแล้ว ประเด็นนี้จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากญาติอยากจะพิสูจน์อีกครั้ง ก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เสียชีวิตรายอื่นที่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายกลับมาไทย อยู่ในระหว่างการพิสูจน์อัตลักษณ์ที่ประเทศอิสราเอล

 

แรงงานไทยเสียชีวิตจากเหตุอิสราเอลล่าสุด 30 ราย

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล จากรายงานของฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ  พบว่า มีแรงงานไทยลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยกับทางสถานทูตฯ แล้ว 8,389 คน ไม่ประสงค์กลับ 116 คน ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิตจำนวน 30 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย โดยมีแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้ว เมื่อรวมกับเที่ยวบินของสายการบินไทยในเช้าวันนี้ เวลา 05.00 น.อีกจำนวน 261 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,821 คน