ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยติดกลุ่ม 23 ประเทศ ประชากรลด 50% ภายในปี 2643 “หมอชลน่าน” เร่งทุกหน่วยงาน ยกเครื่องคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ป้องกันปัญหาใหญ่โครงสร้างประชากรวัยแรงงานลดระดับต่ำสุดภายใน 60 ปี คาดการณ์เด็กไทยจะลดลง 9 เท่า จาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน เปิดตัวแคมเปญ “Give Birth Great World” การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นโครงการระดับประเทศแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปัญหาภาวะเด็กเกิดน้อยที่เป็นปัญหาของหลายประเทศทั่วโลก ว่า จากข้อมูลระบุว่าหากไม่มีการแก้ไขหรือดำเนินการใด ๆ ภายในปี 2643 ค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คน ส่งผลให้ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคน ในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2643 และในอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะเป็นหนึ่งใน 
23 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวมากที่สุด โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศจะปรับลดลงถึงต่ำสุดและประชากรของประเทศจะเหลือเพียงแค่ 50% ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนหน้านี้มาแล้วหลายปี รวมทั้งสเปน อิตาลี เกาหลีใต้ ทั้งนี้ จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้ได้ แม้แต่จีน ซึ่งเคยมีประชากรมากที่สุดในโลก ในปี 2565 ประชากรยังมีอัตราลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 1,411 ล้านคน ทำให้จำนวนประชากรของจีนน้อยกว่าประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก 

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ เช่น คลินิกส่งเสริมการมีบุตรของกรมอนามัยจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่งใน 12 ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ที่พร้อมให้คำปรึกษา, ศูนย์ส่งเสริมการมีบุตรและรักษาผู้มีบุตรยาก ทั่วประเทศ 107 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 91 แห่ง ที่มีการเตรียมความพร้อม 100% ในการรับมือกับปัญหาใหญ่ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดทำแคมเปญใหญ่ Give Birth Great World เป็นโครงการระดับประเทศและอาจเชิญชวนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เข้าร่วม ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

“เมื่อจำนวนประชากรสูงอายุมีมากกว่าวัยหนุ่มสาวและเด็กที่เกิดใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร เช่น ขาดแคลนวัยแรงงาน ประชากรสูงอายุในกลุ่มที่มีภาระพึ่งพิงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น กลายเป็นยอดของปิรามิด ขณะที่ฐานปิรามิดประชากรแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านประชากรของประเทศ ดังนั้น ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” ไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ แต่เป็นปัญหาของโลก ส่วนโครงสร้างประชากรไทย ขณะนี้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ที่เหมาะสมหรือที่เรียกว่าระดับทดแทนคือ 2.1 คน แต่ปัจจุบันพบว่าจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยลดลงเหลือเพียง 1.08 คนเท่านั้น จึงต้องเอาความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจนออกไป โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาที่ดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นพ.ชลน่านกล่าว            

ด้านพญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน ทั้งนี้ ภายในปี 2626 หรือ 60 ปีจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชากรไทยจาก 66 ล้านคนจะลดเหลือเพียง 33 ล้านคน และประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 8 ล้านคนเป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น งบประมาณในการรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่วนวัยทำงาน อายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือเพียง 14 ล้านคน ซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานที่ลดลง ผลผลิตโดยรวมของประเทศลดลง และภาษีที่จัดเก็บได้ลดลง ขณะที่ประชากรวัยเด็กอายุตั้งแต่ 0 - 14 ปีจะลดจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน เท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: สช.ผนึกภาคี เปิดเวทีถกปัญหาเด็กเกิดน้อย ก่อนรวมเป็นเชิงนโยบายสู่รัฐบาล

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง