ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข สั่งสังคายนาทุกกรม กอง ทุกหน่วยงาน หลังป.ป.ท.และหน่วยงานตรวจสอบพบปัญหาทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  “ชลน่าน” ให้กำลังใจบุคลากร อย่าเพิ่งเสียขวัญจากเหตุทุจริต ใช้วิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาระบบอุดช่องโหว่

 

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.)ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)  พร้อมด้วย กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 (กปท. 2)  และตำรวจ ปปป. พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าจับกุมข้าราชการซี 7 หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป และนักวิชาการพัสดุ สถาบันชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีหมายจับศาลอาญากรณีฐานการจัดซื้อจัดจ้างที่สร้างความเสียหายแก่รัฐ ทั้งนี้ ตรวจสอบกระทำผิดตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน เสียหายรวมมากกว่า 51.3 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามข่าวที่นำเสนอกัน ขั้นตอนก็จะเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผอ.กองท่านเดิมได้รับแจ้งจาก ป.ป.ท.ว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ ก็ให้ความใส่ใจและทำงานเรื่องนี้ติดต่อเรื่อยมา จนส่งต่อให้อธิบดีคนใหม่ เริ่มทำงานร่วมกับ ป.ป.ท.ที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อธิบดีท่านใหม่ทราบเรื่องก็สั่งย้ายคนที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งนั้นไว้ก่อน และมีการไต่สวนสอบสวนจนกระทั่งได้ข้อมูลที่ชัด ก็ให้ ป.ป.ท.เข้ามาดำเนินการตามกฎหมายอาญาแล้วฟ้องไป

เมื่อถามว่าการทุจริตดังกล่าวที่ทำมานาน อาจไม่ได้ดำเนินการเพียง 2 คน ต้องมีการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติมหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า แม้ระบบที่เราวางไว้ มีระบบตรวจสอบภายใน ตรวจเช็กทุกขั้นตอน ยังหลุดรอดได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำต่อไป คือ การสังคายนาทั้งระบบ เรื่องจัดซื้อจัดจ้างแต่ละกรมกอง ว่ามีรูรั่วตรงไหนอย่างไร มีสัญญาณอะไร เพราะการทุจริตประเภทนี้ทำได้เนียนมาก

"สมมติจัดซื้อ 700 รายการ 10 รายการ แฝงอยู่ตรงนั้น 20 โครงการ แฝงอยู่ตรงนี้ เราก็ไม่รู้ อันนี้อาจจะต้องไปปรับวิธีการตรวจสอบ วิธีการเฝ้าระวังทุกระดับ ผมและปลัด สธ.คุยกันแล้วว่าเราคงต้องมาสังคายนามาปรับรื้อกันใหม่ วิธีที่จะควบคุมตรวจสอบภายใน หน่วยงานที่มีหน้าที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างจะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร ตรวจสอบผลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร โดยดำเนินการทุกกรมใน สธ." นพ.ชลน่านกล่าว

ถามถึงกรณีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือต้องมีการเรียกคืนเงินหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบว่ามีการนำเงินของหลวงไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ ถ้าพบผิดประเภทก็ต้องเรียกคืน ของหลวงนี่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ถ้ามีหลักฐานชัดก็ต้องนำมาคืนหลวงให้ได้

ถามต่อจากนี้จะมีการลงโทษอย่างไร ถึงขั้นให้ออกเลยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย คือ ความผิดทางอาญาก็ว่าไปอยู่ศาลทุจริต ส่วนเราก็มาดูทางวินัย ซึ่งจะรีบเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ ก็สอดรับการร้องการฟ้องที่ ป.ป.ท.ด้วย อย่างวันนี้ก็เป็นต่อต้านทุจริตโลก นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่เราเองมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการทางวินัยข้าราชการ ตามปกติจะมีการตั้งคณะกรรการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งโทษทางวินัยราชการจะมี 2 ระดับ คือ โทษวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน และโทษวินัยร้ายแรง คือ มีการปลดออก และไล่ออก

“ชลน่าน” ให้กำลังใจบุคลากร อย่าเพิ่งเสียขวัญจากเหตุทุจริต 

วันเดียวกัน นพ.ชลน่าน กล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างการเปิดอาคารศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ว่า  กรณีป.ป.ท.จับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเรา คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภาพเหล่านั้นแน่นอนว่า หนึ่งเป็นภาพสะท้อนของการทำงานของระบบงานของพวกเรา เราต้องยอมรับว่าถ้ามันมีความผิดพลาด คลาดเคลื่อน มันมีการทุจริตเกิดขึ้นนั่นก็แสดงว่าระบบเรายังไม่ดีพอ ไม่ดีพร้อม แม้เราจะวางระบบไว้  อย่างไรก็ตาม  คนที่โกง ย่อมเก่งกว่าระบบแน่นอน โดยเฉพาะระบบที่เป็นระบบแบบดั้งเดิม ระบบการตรวจสอบที่ใช้คนเป็นตัวตั้งมันค่อนข้างยาก คนตรวจรับก็ถูกปลอมลายเซ็นต์ได้ สินค้าก้เป็นสินค้าทิพย์ได้ ผสมกลมกลืนกันไป ตรงนี้เป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของกระทรวงเราอย่างยิ่ง

“พี่น้องกระทรวงเราอย่าพี่งขาดกำลังใจ เราใช้วิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสให้ได้ ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแม้เราจะทำหน้านี้ของเราให้ถึงพร้อม แต่ยังมีรอยรั่ว มีช่องโหว่ ช่องว่าง เราคงต้องมามองตัวเราเอง มองระบบภายในเรา มองจากบุคคลภายนอก มองจากปัจจัยแวดล้อม ถึงเวลาที่เรา ต้องสังคายนาระบบใหม่ทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจถ้านำเอาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ลดการใช้ดุลยพินิจ ลดเรื่องคนลงไป ระบบจะช่วยท่าน ผมเชื่อว่าด้วยกมลสันดานว่าไม่มีใครอยากทุจริต แต่เหตุผลความจำเป็นส่วนตัว ครอบครัว จังหวะ โอกาสเอื้อ ย่อมโน้มน้าวชักจูงให้เข้าสู่ตรงนั้นได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ถ้าเรานำระบบดิจิทัลมาใช้ ก็สามารถที่จะป้องกันทุกขั้นตอนโดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทำ มันสามารถวัดกิจกรรมที่ทำได้ทุกเวลา ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้หมด เพราะฉะนั้นการที่จะใช้โอกาสจังหวะของความมีช่องว่างของระบบไปแสวงหาผลประโยชน์จะน้อยมากหรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย