ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทูตานุทูต 45 ประเทศ ร่วมเฉลิมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2566” (UHC Day 2023) ลงพื้นที่วัดเวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) เขตดอนเมือง เยี่ยมชมการจัด “บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชม” โดยกรุงเทพมหานคร ดูแลประชาชนในพื้นที่เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพ กลไกสนับสนุน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” บรรลุเป้าหมาย   

ที่วัดเวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ดอนเมือง กรุงเทพฯ - รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) ร่วมให้การต้อนรับคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ 45 ประเทศ ที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดบริการสาธารณสุขเชิงรุกในระดับชุมชนตามนโยบายกรุงเทพมหานคร ในการยกระดับสุขภาพปฐมภูมิเพื่อคน กทม. สุขภาพดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2566 หรือ UHC Day 2023 (International Universal Health Coverage Day) โดยปีนี้ได้กำหนดการรณรงค์ในหัวข้อ “สุขภาพดีถ้วนหน้า: ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ” จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทางกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสต้อนรับการศึกษาดูงานของคณะทูตานุทูตครั้งนี้ ในกิจกรรมเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อรณรงค์ให้นานาประเทศเห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชากรของประเทศ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีความเป็นมืองใหญ่ที่เป็นจุดศูนย์รวมของบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาลชั้นนำระดับประเทศ และประชาชนมีสิทธิหลักประกันสุภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนยังเป็นอุปสรรค ด้วยจำนวนประชากรที่หนาแน่น หน่วยบริการที่มีจำกัด นอกจากความร่วมมือของหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว การบริการสาธารณสุขเชิงรุกในระดับชุมชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเข้าถึงสิทธิและบริการ   

ดังนั้นที่ผ่านมานโยบายด้านสุขภาพของกรุงเทพฯ จึงมีการเน้นการให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดบริการในรูปแบบที่อำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน ลดค่าใช้จ่าย และลดความแออัดในโรงพยาบาล อาทิ บริการหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ตาม “โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ” ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีทีมหมุนเวียนออกให้บริการทั้ง 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร

สำหรับบริการสาธารณสุขพื้นฐานที่ให้บริการ อาทิ บริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง, คลินิกลดน้ำหนัก แนะนำเรื่องอาหารและการออกกำลังกายเป็นรายบุคคล, รถตรวจคัดกรองมะเร็งสตรีเคลื่อนที่ ให้บริการสอนและตรวจคลำเต้านม บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดย HPV DNA test, รถตรวจคัดกรองจอประสาทตาและความดันตา ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ, รถเอกซเรย์ปอดดิจิตอล สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อวัณโรคปอด, รถทันตกรรมเคลื่อนที่ บริการตรวจสุขภาพภายในช่องปาก ให้การรักษาอุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน, รถคลายเครียดเคลื่อนที่ บริการประเมินความเครียด/ซึมเศร้า ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตโดยนักจิตวิยา บริการแว่นสายตายาวสำหรับผู้สูงอายุ ให้คำแนะนำและปรึกษาการใช้ระบบการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ และการให้คำปรึกษาและแนะนำขั้นตอนการเจาะเลือดและตรวจแล็บใกล้บ้านเพื่อลดความแออัดในหน่วยบริการ เป็นต้น  

 “วันนี้เป็นการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ในเขตดอนเมืองที่วัดไผ่เขียว ซึ่งเป็นไปตามแผนบริการสาธารณสุขเชิงรุกของสำนักอนามัย โดยคณะทูตานุทูตที่มาในวันนี้จะได้เยี่ยมชมการให้บริการของทางกรุงเทพมหานคร ที่เป็นส่วนสนับสนุนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และมีสุขภาพที่ดี” รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยได้ดูแลให้คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมดูแลผู้มีสิทธิจำนวน 47.73 ล้านคน ด้วยจำนวนประชากรที่มากขนาดนี้ จำเป็นต้องมีบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ รวมถึงการให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน ซึ่ง “โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ” ที่ทางคณะทูตานุทูตได้มาเยี่ยมชมในวันนี้ เป็นรูปแบบบริการเชิงรุกที่ไม่เพียงทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอยางมีคุณภาพและมาตรฐาน บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากช่วยลดความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยลดความแออัดการรับบริการในโรงพยาบาล 

“บริการสาธารณสุขเชิงรุกในชุมชน ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนที่สนับสนุนให้การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยประสบผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายตามที่ปรากฎนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว         

เรื่องที่เกี่ยวข้อง