ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มองค์ความรู้พระคิลานุปัฏฐาก พัฒนาหลักสูตร “การดูแลพระอาพาธระยะท้าย” สร้างมาตรฐานการดูแลพระสงฆ์ระยะประคับประคองตามหลักพระวินัย หนุนนโยบายเร่งรัด “กุฏิชีวาภิบาล” พร้อมต่อยอดเป็นศูนย์รวมการดูแลสุขภาวะชุมชน

 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566  ที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดไตรมิตรวิทยาราม พญ.นวลสกุล บํารุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงาน และมีพระเถรานุเถระ พระคิลานุปัฏฐาก เข้ารับการอบรม ทั้งสิ้น 120 รูป  

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ เป็นหนึ่งใน 13 นโยบายเร่งรัดดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย สร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งสนับสนุนให้วัดเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยพัฒนาเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัดให้มีความรู้ เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์กันเองภายในวัดและขยายผลสู่สุขภาวะประชาชนในชุมชน

จากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2564 ทั่วประเทศมีวัดจำนวน  43,562 แห่ง  มีพระสงฆ์ สามเณร ประมาณ 241,368 รูป ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีโรคเรื้อรัง และยังมีพระอาพาธระยะท้าย 9,655 รูป กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำ “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” เพื่อพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และจัดตั้ง “กุฏิชีวาภิบาล” ให้เป็นที่พักในการดูแลพระอาพาธระยะท้ายที่มีมาตรฐานตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง และยังเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อีกด้วย

 

“การพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาที่จะเข้ามาดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ด้วยกันเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักพระวินัย เนื่องจากพระมีวัตรปฏิบัติแตกต่างจากฆราวาส และจะต่อยอดสู่การเป็นศูนย์รวมการดูแลสุขภาวะของชุมชน เพราะพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความคิดและจิตใจของคนไทย” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ด้านพญ.อัมพร กล่าวว่า หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก จะมีการอบรมเป็นเวลา 5 วัน ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติจริง และความรู้ทางวิชาการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น การวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองผู้ป่วยระยะประคับประคอง, การประเมินและการจัดการอาการปวด, การดูแลอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น และยังได้รับความเมตตาจาก พระธรรมวชิราจารย์ รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสุวรรณารามวรวิหาร เป็นวิทยากรเรื่องบทบาทและความสำคัญของพระคิลานุปัฏฐากในการดูแลพระอาพาธระยะท้าย ทั้งนี้ ได้มีแผนจัดอบรมพระคิลานุปัฏฐาก/ โยมอุปัฎฐาก ระยะแรกที่ วัดทับคล้อ จ.พิจิตร (ภาคเหนือ), วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี (ภาคกลาง) วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช (ภาคใต้) และตั้งเป้าให้มีกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ ที่มีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัดในทั้ง 3 เขตสุขภาพ