ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ พร้อมมอบรางวัลคนดีศรีวัณโรคปี 2566  ด้าน สธ.เผยข้อมูลปี 2565 ผู้ป่วยวัณโรค 111,000 ราย เสียชีวิต  13,700 ราย มีอัตราความสำเร็จในการรักษา 85%  ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมาย เร่งดำเนินงานยุติวัณโรค ลดอัตราการตายลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง 90% ภายในปี  2578

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร   นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ โดยมี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วม ซึ่งภายในงานมีการมอบประกาศนียบัตรรางวัลคนดีศรีวัณโรค และหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ประจำปี 2566

นายวิชาญ  กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO, Global Tuberculosis Report 2023) พบว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) จำนวน 111,000 ราย เสียชีวิต จำนวน 13,700 ราย และมีอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ร้อยละ 85 ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย จะต้องเร่งรัดดำเนินงานด้านวัณโรคให้บรรลุเป้าหมาย และต้องขอความร่วมมือจากบุคลากรและหน่วยงานทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินงาน รวมถึงการกำกับติดตาม ประเมินและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายการยุติปัญหาวัณโรคให้หายขาด

“ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรและทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และขอชื่นชมในความตั้งใจ เสียสละแรงกาย แรงใจ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย และขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีความตั้งใจที่ดีในการร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับวัณโรค และพัฒนางานเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย ต่อไป” นายวิชาญ กล่าว

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและประสานงานหลักในการขับเคลื่อนการยุติปัญหาวัณโรค เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนปลอดภัยจากวัณโรค ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สามารถยกระดับระบบการให้บริการสาธารณสุข การป้องกัน ดูแล รักษาผู้ป่วยวัณโรคได้  ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการต่อสู้กับวัณโรคในปัจจุบันยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน เป็นต้น

นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค โดยกองวัณโรค มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรค เพื่อลดอัตราการตายจากวัณโรคลง ร้อยละ 95 และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2578 และไม่มีครอบครัวใดที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการป่วยวัณโรค มีการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1) เร่งรัดการค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา  2) ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามสูตรมาตรฐาน  3) เพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคระยะแฝงและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค  4) เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค และ 5) ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการป้องกันควบคุมวัณโรค

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของบุคลากรด้านวัณโรค จึงได้ริเริ่มจัดตั้งรางวัลคนดีศรีวัณโรคและหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ซึ่งมีบุคลากรและหน่วยงานที่ได้รับรางวัล รวม 43 รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ ประเภท 1) คนดีศรีวัณโรค ซึ่งแบ่งเป็นรางวัลอีก 7 ระดับ ระดับประเทศ  ระดับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ระดับจังหวัด ระดับโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ระดับโรงพยาบาลชุมชน ระดับเรือนจำ ประเภทที่ 2) หน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ซึ่งแบ่งเป็นรางวัลอีก 4 ระดับ ระดับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ระดับจังหวัด ระดับโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และ ระดับโรงพยาบาลชุมชน