ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทน “รักษ์ลาซาลคลินิก” ชูการบริการ หวังช่วยรัฐรักษาผู้ป่วยปฐมภูมิเขตพื้นที่กทม. ไม่ต้องกำไรแต่ขอไม่ขาดทุน!

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 คุณพัชรีรัตน์ พรรณทรัพย์ ประธานชุมชนทองใบ คุณอรวรรณ มงคลพันธ์ ประธานชุมชนคลองบางนา และคุณปอขวัญ นาคะผิว พยาบาลวิชาชีพ กรรมการผู้จัดการลาซาลคลินิกเวชกรรม หุ้นส่วนบริษัทรักษ์ลาซาลคลินิกเวชกรรมจำกัด ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงความเป็นมาการเปิด "ลาซาลคลินิกเวชกรรม" โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อบริการสุขภาพประชาชนในชุมชน 

คุณพัชรีรัตน์ พรรณทรัพย์ ประธานชุมชนทองใบ กล่าวว่า มีการปรึกษากันว่าต้องการทำคลินิกเพื่อชุมชนของพวกเรา เนื่องจากอยู่ในละแวกลาซาล ซึ่งตอนนั้นเกิดปัญหาคลินิกปิดหมด จากนั้นจึงระดมทุนกันโดยเราไม่ได้หวังผลกําไร และนำเงินทุนใช้หมุนเวียนในการดําเนินกิจการให้ไปได้ เพื่อช่วยคนชุมชนช่วยคนในย่านลาซาลของเรา รวมถึงดูแลพระเณรของวัดที่อยู่ในโซนเราด้วย แต่ช่วงแรกได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้คลินิกลาซาล สามารถดูแลผู้ป่วยโควิดได้ดีในตอนนั้น

ด้าน คุณอรวรรณ มงคลพันธ์ ประธานชุมชนคลองบางนา กล่าวว่า จากที่เรามีการพูดคุยกันว่าอยากตั้งคลินิกขึ้นมา เนื่องจากคลินิกต่างๆถูดปิดไป อยากให้คนในชุมชนของเราเข้าถึงการรักษาได้ง่าย เพราะเราเหมือนกับคนกันเองที่รู้จักกันแล้วสามารถพูดคุยกันได้ง่าย ซึ่งในฐานะประธานชุมชนคลองบางนา และ อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสส.) สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถแนะนําประชาชนเข้ามาใช้บริการคลินิกลาซาลด้วย ซึ่งในตอนแรกยังมีประชาชนในพื้นที่ไม่มากนัก เราจึงมีการประชาสัมพันธ์เองหาคนไข้เอง ทําให้การบริหารงานค่อนข้างยาก แต่ช่วงโควิดเรามีโอกาสดูแลประชากรเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ภายหลังผู้บริหารแจ้งว่า สปสช.ถูกตัดงบไปดังนั้นทําให้การบริหารงานติดขัดอยู่บ้าง

ขณะที่ คุณปอขวัญ นาคะผิว พยาบาลวิชาชีพ กรรมการผู้จัดการลาซาลคลินิกเวชกรรม หุ้นส่วนบริษัทรักษ์ลาซาลคลินิกเวชกรรมจำกัด กล่าวว่า ตนเคยทำคลินิกมาก่อนและต่อสู้มาเยอะในช่วงที่คลินิกถูกปิดไป แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าถ้ามีระบบที่ดีและให้บริการแบบมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เราน่าจะน่าจะให้บริการต่อได้ จากนั้นจึงชักชวนว่าลองมาทํากันเองจะดีหรือไม่ เพราะอย่างน้อยเรามีเครือข่าย ทั้ง ประธานชุมชน  สน.บางนา สํานักงานเขตบางนา และ กลุ่มจิตอาสาต่างๆ หากเกิดปัญหาขึ้นมาเกี่ยวข้องกับคนไข้ที่ไม่มีที่มาที่ไป จะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ตลอด จึงทําให้เรามีความรู้สึกว่าจะบริหารจัดการได้ แม้ว่าครั้งแรกที่เราเปิดจะไม่มีฐานประชากรเลยแม้แต่คนเดียวก็ตาม

ซึ่งในวันที่เปิดคลินิกทุกคนมีมุมมองเดียวกันว่า นี่คือ คลินิกของชุมชน ยิ่งทำให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ แต่เนื่องจากช่วงที่เปิดเป็นช่วงโควิดระบาดซึ่งเรามีรายได้เข้ามาเยอะพอสมควร อีกทั้งช่วงนั้น ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอตัวออกมาช่วยในการแก้ไขปัญหา โดยการรวบรวมอาสาสมัครวิชาชีพแพทย์และทีมสหวิชาชีพ จำนวน ประมาณ 3,000 คน เพื่อร่วมจัดบริการสุขภาพ และสนับสนุนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัส ที่ต้องเข้าสู่ Home Isolation โดยราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้สนับสนุนองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด การจัดหายา และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคลินิกเอกชน และระบบสุขภาพปฐมภูมิ 

จนกระทั่งปี 65 กลับกลายมาเป็นโรคประจําถิ่นทำให้ไม่มีเงินงบประมาณตรงส่วนนี้มาใช้ จำเป็นต้องกลับมาใช้งบประมาณที่ สปสช. ให้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องจัดการงบประมาณ มองว่าถ้าหากระบบถูกจัดสรรเหมือนกับระบบราชการ จะสามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่นกว่านี้ ตอนนี้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็น ทําเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเราขึ้นทะเบียนกับสํานักอนามัย เราไม่ได้มุ่งหวังแค่คนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่คนอื่นที่ไม่มีสิทธิ์จะเข้ามาใช้บริการนั้น เราคิดค่าบริการเท่ากับที่เบิก สปสช. เช่นกัน ตรงนี้ทําให้ประชาชนรู้สึกดีเวลาที่เขามารับบริการ   

ทั้งนี้ "รักษ์ลาซาลคลินิกเวชกรรม" มีบริการรักษาโรคทั่วไป โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ อื่นๆ รวมทั้งมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวด้วย สามารถรับประชาชนได้สูงสุด 80-100 คน/วัน แต่ปัจจุบันนี้มีฐานสมาชิกที่มาใช้บริการอยู่ประมาณ 30-40 คน/วัน เพราะว่าในละแวกนี้มีคลินิกบัตรทองอยู่ประมาณ 5 แห่ง ซึ่งตรงนี้อาจส่งผลให้เราก็ต้องหาสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นให้ได้

 

"อย่างไรก็ตาม มองว่าถ้ามีระบบในการจัดสรรประชากร โดยให้แบ่งพื้นที่ชัดเจนในการเข้ารับบริการอาจจะบริหารได้ดีกว่านี้และไม่มีปัญเรื่องงบประมาณ ซึ่งหมายความว่า ไม่จําเป็นต้องมีกําไรแต่ต้องไม่ขาดทุน เพราะถ้าขาดทุนก็ไม่มีใครอยากทํา เพราะการเสียสละเหล่านี้ คือเสียสละด้วยเเรงกายเเรงใจอยู่แล้ว เเต่ถ้าต้องมีแรงทรัพย์ด้วยก็จะลําบาก ถ้าแก้ไขได้ปัญหาต่างๆได้ จะทําให้เราสามารถดูแลคนในชุมชนได้เป็นอย่างดีมากขึ้น เพราะรู้จักกันทั้งหมด"  คุณปอขวัญ กล่าว.

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง