ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประกิต” ย้ำ! ควรให้ความรู้เด็กนักเรียน ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เผยผลวิจัยชี้ นักเรียนมัธยมฯ 39.3% ไม่เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 36.6% ไม่เชื่อ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง มีอันตรายต่อสุขภาพ  

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากการที่บุหรี่ไฟฟ้าระบาดรุนแรงในเด็กนักเรียนทั่วประเทศ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ผลิตสื่อชิ้นใหม่ เพื่อรณรงค์ให้เด็กนักเรียนไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ในรูปแบบโปสเตอร์ ขนาด 15x21 นิ้ว โดยดัดแปลงมาจากโปสเตอร์ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ผลิตขึ้นสำหรับโรงเรียนระดับชั้นมัธยมทั่วประเทศนำไปติดในห้องน้ำ เนื่องจากพบว่า ห้องน้ำเป็นสถานที่ซึ่งเด็กนักเรียนชอบแอบนำบุหรี่ไฟฟ้าไปสูบ

ทั้งนี้ ข้อความในโปสเตอร์ที่เป็นภาษาอังกฤษใช้ถ้อยความที่กระแทกแรงมาก ว่า Strangely enough, some students come in here to put crap into their body ซึ่งคำว่า crap ในภาษาอังกฤษ แปลตรง ๆ หมายถึง อึ/อุจจาระ หรือถ้าสุภาพหน่อย หมายถึง ขยะ ของสกปรก เนื้อหาโดยรวมจึงต้องการกระตุกความสนใจจากนักเรียนว่า “มันแปลกนะ ที่นักเรียนบางคนเข้ามาที่นี่เพื่อเอาขยะของเสียเข้าสู่ร่างกาย” โดยเปรียบเทียบการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นของเสีย ของไม่ดี กลับเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้ง ยังมีข้อความที่พิมพ์ใต้เนื้อหาข้างต้นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีกลุ่มสารก่อมะเร็งตัวเดียวกันกับที่พบในบุหรี่มวน

แต่การใช้ถ้อยคำกระชากความรู้สึกของเด็กนักเรียนที่รุนแรงเกินไป อาจไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย มูลนิธิรณรงค์ฯ จึงดัดแปลง ผลิต และเผยแพร่ โดยใช้ข้อความว่า “มันแปลกนะ ห้องน้ำมีไว้เพื่อปลดทุกข์ แต่นักเรียนบางคนแอบมาสูบสารพิษเข้าตัว พอตและบุหรี่ไฟฟ้า มีกลุ่มสารก่อมะเร็งตัวเดียวกันกับบุหรี่มวน”

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า “การให้ความรู้ที่ถูกต้องถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กนักเรียน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญมาก ๆ ที่จะลดการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เห็นได้จากข้อมูลจากงานวิจัยของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากที่ยังไม่รู้หรือเข้าใจผิดถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

• 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
• 36.6% ไม่เชื่อว่าการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง มีอันตรายต่อสุขภาพ
• 35.8% ไม่เชื่อว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ ปอดอักเสบรุนแรง
• 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้
• 21.8% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่แบบมวนได้
• 20.5% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ขอเชิญชวน ผู้บริหาร บุคลากร และคุณครูของโรงเรียนทุกสังกัด สื่อสารถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยท่านที่สนใจสามารถติดต่อขอรับโปสเตอร์ดังกล่าวได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทรศัพท์ 0-2278-1828 หรือดาวโหลดไฟล์จากเว็บไซต์ www.smokefreezone.or.th

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

หายนะ “บุหรี่ไฟฟ้า” คืบคลานสู่ “เด็ก” ที่อายุน้อยลงมาก