ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีสบส.เตรียมส่งร่างพรบ.อุ้มบุญ เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการฯ หากเห็นชอบจึงเสนอ “รมว.ชลน่าน” ก่อนส่งเข้า ครม.ต่อไป ชี้เป็นอีกทางช่วยส่งเสริมมีบุตร พบ 7 ปี เปิดทางคนท้องเองไม่ได้ มีลูกกว่า 700 คน ส่วนเพศเดียวกันต้องรอกฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อน

 

เมื่อวันที่ 7 มมกราคม  นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการจัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่อธิบดีคนก่อน ช่วงที่มีการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมาย จึงมีการนำมาแก้ไข ซึ่งขณะนี้ก็แก้ไขเสร็จแล้ว เข้าสุ่การคณะอนุกรรมการกฎหมายของกรม เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาสัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ต่อไป เมื่อเห็นชอบก็จะเสนอไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามลำดับ เพื่อเสนอเข้า ครม.พิจารณา

ร่างกม.อุ้มบุญ อีกทางเลือกช่วยส่งเสริมการมีลูกที่ถูกกฎหมาย

ถามว่าการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยนโยบายส่งเสริมการเกิดของรัฐบาลด้วยหรือไม่  นพ.สุระกล่าวว่า เรื่องอุ้มบุญก็ทำให้คนที่อยากจะมี แต่ไม่มีโอกาสตั้งครรภ์ ได้มีลูกได้ ก็เป็นการช่วยส่งเสริมอีกทางหนึ่ง แต่ก็จะไม่ได้เยอะมาก ซึ่งเราตั้งกฎหมายมา 7 ปี มีการทำอุ้มบุญประมาณ 700 คนเอง แต่กลุ่มผู้มีบุตรยากจะเยอะกว่าประมาณ 2 หมื่นคนต่อปี ที่จะต้องเอาไข่มาผสมเสร็จไปฝังมดลูกตนเองไม่ต้องอาศัยมดลูกคนอื่น เช่น พวก IVF หรือ ICSI ซึ่งบริการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในส่วนของ พ.ร.บ.อุ้มบุญ หน่วยบริการสามารถทำได้เลย แต่จะต้องขอขึ้นทะเบียนเรื่องตัวอ่อน ต้องรายงานให้เรารู้ แต่ไม่ได้อยู่ในส่วนของที่ต้องมาขออนุญาตคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ แต่กรณีเดียวที่ต้องมาขออนุญาตคือ ไม่มีมดลูกเพื่อตั้งครรภ์

 

ถามถึงสถานพยาบาลที่ให้บริการเหล่านี้ได้มีมากน้อยแค่ไหน  นพ.สุระกล่าวว่า ปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่าแห่ง เป็นของเอกชนมากกว่า ไม่น้อยกว่า 60% ที่เหลือเป็นของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย และ รพ.รัฐ

ร่างกม.อุ้มบุญจะรวมคู่สมรสเพศเดียวกันหรือไม่ ต้องรอกม.สมรสเท่าเทียม

ถามถึงกรณีเพศเดียวกันที่จะทำอุ้มบุญ  นพ.สุระกล่าวว่า กฎหมายเราจะใช้ว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ดังนั้น ตรงนี้ยังต้องรอ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านก่อนเช่นเดิม หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านคู่สมรสเพศเดียวกันก็สามารถใช้ พ.ร.บ.อุ้มบุญในการมีลูกได้ อย่างไรก็ตาม จะไม่ครอบคลุมคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสของต่างประเทศ ต้องเป็นคู่สมรสตามกฎหมายไทยเท่านั้น ส่วนต่างชาติที่จะทำอุ้มบุญ ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย

 

เมื่อถามว่าร่างกฎหมายใหม่ต้องมีการขึ้นทะเบียนแม่อุ้มบุญด้วยหรือไม่  นพ.สุระกล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูรายละเอียดของร่างกฎหมาย ว่าจะมีเรื่องการขึ้นบัญชีแม่อุ้มบุญหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ ส่วนกรณีธนาคารเก็บอสุจิ เก็บไข่ เก็บตัวอ่อนนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.อุ้มบุญอยู่แล้ว คือ สถานพยาบาลที่จะทำเรื่องอุ้มบุญก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ก็ต้องมาขออนุญาต มิเช่นนั้นจะควบคุมไม่ได้ หากเกิดตัวอ่อนหายเอาไปฝังใครแล้วใครจะตามให้

 

ถามต่อว่าร่างกฎหมายใหม่จะมีการวางมาตรการเพื่อป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์เพิ่มเติมหรือไม่  นพ.สุระกล่าวว่า จริงๆ เป็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติขึ้นกับทางตำรวจ เขาก็จะดูอีกฉบับหนึ่ง ส่วนของเราเป็นเรื่องการอนุญาตให้มีการทำอุ้มบุญหรือทำให้คนได้เกิด คนไม่มีลูกจะได้มีลูก ส่วนเรื่องทำความผิดก็จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล หากลักลอบทำก็จะผิดกฎหมายฉบับหนึ่ง แต่ไม่ได้ผิดกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ