ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปลดล็อกเพดานอายุหญิงทำ “อุ้มบุญ” ให้มากกว่า 55 ปีขึ้นไป ส่วนญาติสาวอายุ 20-40 ปี บริจาคไข่ได้ไม่ต้องสมรสก่อน เผยร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญ ฉบับใหม่ เพิ่มโทษปรับถึง 2 ล้านบาท จ่อเปิดทางคู่ต่างชาติเข้ามาทำอุ้มบุญ มีมาตรการรองรับป้องกันค้ามนุษย์   คาดช่วยโกยรายได้เข้าไทยคู่ละมากกว่าหลักล้านบาท 

 

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าว "สบส. ส่งเสริมการมีบุตร : ทางเลือกสำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยากเพื่อเข้ารับบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุทางการแพทย์" ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของหญิงลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยก็เผชิญปัญหาอัตราการเจริญพันธุรวมลดลง ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและก้าวสู่สังคมสูงอายุ ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว มีการตรา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ เพื่อสนับสนุนคุ่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีบุตรยากได้มีบุตรตามที่คาดหวัง

 

ไทยมีสถานพยาบาลเด็กหลอดแก้ว 115 แห่ง

นพ.สุระกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ให้บริการเด็กหลอดแก้ว/อุ้มบุญได้ 115 แห่ง แบ่งเป็น รพ.รัฐ 17 แห่ง (14.78%) รพ.เอกชน 31 แห่ง (26.95%) และคลินิกเอกชนมากสุด 67 แห่ง (58.27%) เพราะการขออนุญาตดำเนินการไม่ซับซ้อนมาก เป็นแค่แผนกเดียวที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ โดยรวมสามารถให้บริการผสมเทียม (IUI) หรือการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก 12,000 รอบกาารรักษาต่อปี เด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) 20,000 รอบการรักษาต่อปี ส่วนการอุ้มบุญได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ส 754 ราย คิดเป็น 97.2% ไม่ได้รับอนุญาต 22 ราย คิดเป็น 2.8% ซึ่งผลสำเร็จของทั้ง 3 วิธีเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 48.53% จากเดิมอยู่ที่ 46% และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัด และการพัฒนาระบบประกันุขภาพ

ปรับแก้คุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 สบส.วางนโยบายส่งเสริมผู้มีบุตรยากเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ทั้งทบทวนและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ คือ 1.ปรับแก้ไขคุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภริยาที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้  2.ภริยาที่มีอายุ 35 ปี สามารถตรวจวินจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนได้ ตามที่แพทย์หรือผู้ให้บริการเห็นว่ามีความจำเป็นและสมควร และ 3.ยกเลิกเพดานอายุของภริยาที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จากเดิมไม่เกิน 55 ปี ให้มากกว่า 55 ปีขึ้นไปได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โดยส่งเสริมและผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกี่ยวข้องกรณีเข้ารับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากสถานพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดจำนวนเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเบิกค่ารักษาได้  รวมถึงพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์แทน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือและน่าจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้

ปลดล็อกกฎหมายเพิ่มการเข้าถึงอุ้มบุญ

ถามถึงจำนวนเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าทำอุ้มบุญ  นพ.สุระกล่าวว่า มีการเฉลี่ยมายื่นขอประมาณ 100 ราย ซึ่งจากการปลดล็อกก็น่าจะมีคนเข้ามาขอรับบริการมากขึ้น อย่างที่เราเปิดฟรีไม่ล็อกอายุ 55 ปี บางคนเก็บไข่ตั้งแต่อายุ 30 ปี มีคู่สมรสและอยากมีลูก ตั้งครรภ์เองไม่ได้ก็ฝากคนอื่นตั้งครรภ์ได้ แต่ต้องยอมรับว่าการทำอุ้มบุญมีค่าใช้จ่ายสูง บางคนอทจติดเรื่องเศรษฐานะ อาจเข้าไม่ถึงได้ง่าย ส่วนเด็กหลอดแก้วและผสมเทียม ค่าใช้จ่ายจะถูกมากกว่า ส่วนควรฝากไข่ตอนอายุเท่าไร กรณีมารดาอายุไม่ควรเกิน 36 ปี จะมีความเสี่ยงเรื่องการคลอด เด็กเกิดมาจะมีปัญหาเรื่องสติปัญญา ช่วงเหมาะสมคือวัยเจริญพันธุ์คืออายุมากกว่า 18 - 35 ปีน่าจะเหมาะ และไข่มีคุณภาพ

 

ถามถึงการปรับแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีสาระสำคัญอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง นพ.สุระกล่าวว่า ปรับสาระสำคัญเรื่องของบทลงโทษมากกว่า คือ การค้ามนุษย์ หรือทำโดยไม่มีหน้าที่คุณสมบัติแล้วไปแอบทำ บทลงโทษจะหนักกว่าเดิม

ทพ.อาคม กล่าวว่า การแก้ไขจะมีเรื่องของ 1.การแก้ไขคู่สามีภรรยาที่จะมีลูกเป็นคู่ชีวิตหรือคู่สามีที่สมรสเท่าเทียม ซึ่งตรงนี้ยังต้องมีการปรับแก้ไขใหม่ โดยอาจจะต้องรอ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมก่อน ว่าจะมีการใช้คำว่าคู่สมรส สามีภรรยาอย่างไร ซึ่งหากผ่านแล้วก็สามารถยกมาใช้ได้ เพราะกฎหมายจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายหลักที่เป็นกฎหมายแพ่ง 2.กรณีชาวต่างชาติ แต่ก่อนชายหรือหญิงต่างชาติจะต้องสมรสกับคนไทย ก็ปรับเป็นชายหรือหญิงต่างชาติที่สามารถมาทำในไทยได้  3.กรณีสามีภรรยาเสียชีวิต ใครจะผู้ปกครองบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญ ซึ่งเดิมกฎหมายระบุว่าหญิงตั้งครรภ์แทนปกครองไปก่อน ก็จะให้ผู้เกี่ยวข้องญาติ อัยการ พนักงานกระทรวงพัฒฯาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยื่นขอเป็นผู้ปกครองได้ เราก็แก้ให้แก้สามีภรรยาต้องเขียนว่าจะให้ใครดูแลเด็กเมื่อเสียชีวิต และ 4.การปรับอัตราโทษ เช่น กรณีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท

 

ถามว่าหากเปิดให้คู่สมรสต่างชาติเข้ามาทำอุ้มบุญในไทย จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และจะมีการออกมาตรการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์อย่างไร  นพ.สุระกล่าวว่า จากตัวเลขเมดิคัล ฮับ ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินปี 2566 มีรายได้ 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากก่อนโควิดปี 2562 ที่มีรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการขยายวีซ่า ถ้าเรื่องอุ้มบุญชาวต่างชาติมาทำในไทยเกิดขึ้น ประมาณว่าการทำก็น่าจะมากกว่าหลักล้านบาทในแต่ละเคส สมมติมา 100 คู่ ก็ 100 ล้านบาท ซึ่งต่างชาติน่าจะเข้ามาทำกับเรา เพราะราคาเราถูกกว่าและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำได้ไม่แตกต่างกัน

มีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์

ส่วนการป้องกันการค้ามนุษย์นั้น ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์แทน ทางคู่สามีภรรยาต่างชาติก็ต้องนำหญิงต่างชาติที่จะตั้งครรภ์แทนมาด้วย หรือหากไม่มีจริงๆ ถ้าใช้หญิงไทยก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์หญิงตั้งครรภ์แทนที่กำหนดไว้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อาจจะต้องรอกฎหมายหลักผ่านก่อน ก็จะมีการออกกฎหมายลูกเป็นรายละเอียดแนวทางป้องกัน เพราะถ้าจะเข้ามาทำในไทยก็จะต้องตรวจสอบหลายอย่าง ทั้งเศรษฐานะทางการเงิน ฯลฯ เพื่อป้องกันค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการจับเรื่อยๆ ต้องอาศัยฝ่ายตำรวจมาช่วยดำเนินการ 2-3 ครั้ง ก็ได้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี

กระบวนการค้ามนุษย์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ถามถึงการเอาผิดการค้ามนุษย์จากการทำอุ้มบุญ  นายชาตรี พินใย ผอ.กองกฎหมาย สบส. กล่าวว่า เรื่องอุ้มบุญ เราทำมา 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ใช้วิธีสืบสวนสอบสวนร่วมตำรวจค้ามนุษย์ เป็นเวลา 1 ปีถึงสำเร็จ ผู้กระทำความผิด รวมทั้งแพทย์ สถานพยาบาล อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลทั้งสิ้น และผู้ต้องหาจำเลยกรณีชาวต่างชาติประเทศข้างเคียง ศาลลงโทษจำคุก 50 ปีไม่รอลงอาญา อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 13 ราย ศาลลงโทษจำคุกทั้งสิ้น  2.ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ สอท. ดำเนินคดีจับผู้ต้องหา 10 กว่าคน อยู่กระบวนการของศาลเช่นกัน  และ 3.ร่วมกับดีเอสไอ ตรวจสถานพยาบาล 3 แห่ง พบความผิดทั้งหมด ตอนนี้ส่งอัยการเพื่อดำเนินการฟ้อง โดยเคสที่ 4 กำลังตามมาเร็วๆ นี้  การเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการการกระทำผิดทั้งหมด มาจากกลุ่มทุนสีเทาที่มาพัฒนา ซึ่งกระทบความมั่นคงประเทศ เราไม่ละเลยในการปราบปราม ขณะนี้เราร่วมดีเอสไอทุกมิติประชาสัมพันธ์ สืบสวนปราบปราม

"กระบวนการเขาแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีคนไทยร่วมตั้งทุนบริษัท ร่วมคลินิก รพ. และแพทย์ไทย มาใช้วัตถุดิบในไทย และส่งมนุษย์ออกไปข้างนอก อย่างการกระทำผิดของเคสแรก เอาอสุจิข้ามประเทศไปประเทศเพื่อนบ้าน ผสมประเทศเพื่อนบ้าน เปิดคลินิกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้อง แล้วหมอไทยข้ามไปทำฝังตัวอ่อน" นายชาตรีกล่าว

 

ถามถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ช่วยมีบุตรยาก นพ.สุระกล่าวว่า เบื้องต้นอุ้มบุญตั้งครรภ์แทนยังไม่เป็นสิทธิประโยชน์ ส่วน IUI IVF ตรงนี้ทางบอร์ด สปสช.จะพิจารณา เรื่องของการเรตราคาในการจ่าย ซึ่งจะมีการพิจารณาเร็วๆ นี้ ตรงนี้ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น เพราะแม้จะไปทำเอกชน ก็สามารถใช้สิทธิได้ และอาจจ่ายแค่เพียงส่วนต่างจากที่กำหนดราคาไว้ในสิทธิประโยชน์