ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ราชวิถี เผยขั้นตอนเข้ารับบริการ Virtual Hospital หรือ รพ.เสมือนจริง   เน้นดูแลผู้ป่วยอาการทั่วไป ไม่ใช่โรคฉุกเฉินหรือซับซ้อน จัดทีม “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ดูแล 1-2 คน/วัน ใช้ระบบเทเลเมดิซีน ส่งยาถึงบ้าน อาการไม่หนักรักษาแบบ Home Ward  เบิกจ่ายได้สิทธิบัตรทอง-ข้าราชการ ส่วนประกันสังคมมีคนยอมจ่ายเอง  ช่วยลดแออัด พร้อมอบรม รพ.ในเขตสุขภาพ  หวังขยายบริการเพิ่มขึ้น

 

Virtual Hospital หรือโรงพยาบาลเสมือนจริง เป็นระบบการรักษาที่บ้าน ที่กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี พัมนาและจัดทำระบบโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time พร้อมด้วยบริการครบวงจรเสมือนการเข้าโรงพยาบาลจริง ลดความแออัดในโรงพยาบาล

Virtual Hospital รพ.เสมือนจริง ทางเลือกผู้ป่วยอยู่บ้านแต่เหมือนมารพ.

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้า รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ว่า หลังรับมอบนโยบายเรื่องนี้ รพ.ราชวิถีได้ทำ รพ.เสมือนจริงแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยใหม่หรือผู้ป่วยเก่า ซึ่งผู้ป่วยเก่าจะง่ายเพราะแค่ตรวจสอบสิทธิก็เข้ารับบริการได้  แต่ผู้ป่วยใหม่ไม่เคยมา รพ.  ก็จะต้องดึงเข้าสู่ระบบของ รพ.  ผ่านทีมแอดมิน เพื่อให้คนไข้ลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน Line OA ติดตั้งแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ในการยืนยันตัวตน ตรวจสอบสิทธิ  เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะนัดหมายภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการห้องตรวจ  มีพยาบาลคัดกรอง และพบแพทย์

“หลังพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว จะมีทางออก 4 ทาง คือ 1.ตรวจโดยแพทย์ และให้คำปรึกษาเฉยๆ  (Discharge) 2.ตรวจเสร็จแล้วต้องการยา จัดส่งยาทางไปรษณีย์ 3.ตรวจเสร็จแล้วต้องตรวจเลือดก็มี 2 ทางเลือก ไปตรวจเลือดที่บ้านหรือตรวจเลือดใกล้บ้าน และ 4. จำเป็นต้องแอดมิทแบบไม่รุนแรง ไม่อยากแอดมิท รพ. เราจะมีระบบที่เรียกว่า  Home Ward โดยมีการติดตามอาการผ่านแพทย์ทางไกล ซึ่งคนไข้อยู่ที่บ้าน เรียกว่า ครบวงจร  ก่อนเข้าห้องตรวจ อยู่ในห้องตรวจและหลังออกจากห้องตรวจ” นพ.จินดา กล่าว

ไม่เน้นกลุ่มโรคเร่งด่วน ซับซ้อน รักษาที่บ้านแบบ Home Ward  

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ การจะเข้าสู่ระบบรพ.เสมือนจริงนั้น   ต้องมีการเลือกให้เหมาะสม เช่น  ไม่ใช่โรคเร่งด่วนหรือซับซ้อน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เป็นกลุ่มโรคที่สามารถใช้ดิจิทัลสื่อสาร ซักถามอาการกันได้ เป็นต้น หรือกรณีโรคความดันสูงแบบปานกลางถึงสูงมาก แต่ยังไม่มีปัญหาแทรกซ้อนเร่งด่วน แต่ควรจะมีคนวัดความดันทุกวันให้ แบบนี้ก็จะรักษาเสร็จพาเข้า Home Ward  และจะมีทีมคอยติดตามดูแลอาการทุกวัน

คนไข้เข้าระบบ รพ.เสมือนจริง 1,786 ราย(18 ต.ค.66-12 ม.ค.67)

ผู้อำนวยการรพ.ราชวิถี กล่าวอีกว่า รพ.เริ่มระบบตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2566 - 12 ม.ค. 2567 รวม 1,786 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ใช้บริการผ่าน Virtual Hospital ก็เพิ่มมากขึ้นในแต่ละเดือน โดย ต.ค.อยู่ที่  23 ราย พ.ย. เป็น 565 ราย ธ.ค. 765 ราย และ ม.ค.ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งเดือนก็สูงถึง 435 รายแล้ว การดูแลผู้ป่วยด้วยระบบนี้ ทุกรายเรียบร้อยดี ไม่มีใครมีผลแทรกซ้อนหรืออันตรายจากการให้บริการ เพราะสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด นอกจากระบบที่ต้องรวดเร็วแล้ว คือ เรื่องคุณภาพ ปลอดภัย  ทั้งนี้ หลังจากที่ทีมเราไปแนะนำคนไข้พบว่า คนไข้ส่วนใหญ่อยากจะเข้ามาใช้ เพราะมันสะดวก แต่สำคัญคือคนทำหน้าที่คัดกรองดูแล้วไม่เหมาะสม เช่น โรคบางโรคที่ต้องเจอหมอจริงๆ ก็ต้องอธิบายว่าต้องมา รพ.

เมื่อถามว่าผู้ที่จะใช้บริการจำเป็นว่าจะต้องมีสิทธิรักษาที่ รพ.ราชวิถีหรือไม่  นพ.จินดากล่าวว่า ไม่ต้อง เพียงแต่สิทธิในการเบิกจ่ายตอนนี้จะครอบคลุมแค่บัตรทองและข้าราชการ ยังไม่ครอบคลุมประกันสังคม แต่เราพบว่าส่วนหนึ่งสิทธิประกันสังคมยอมจ่ายเงินเอง เพราะเป็นการซื้อความสะดวก สำหรับการเบิกจ่ายนั้น สปสช.จะมีงบ OP Anywhere ในการดูแลตรงนี้

จัดหมอเวชศาสตร์ครอบครัวรองรับระบบ Virtual Hospital

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องจัดบุคลากรมาดูแลในส่วนของ Virtual Hospital มากน้อยแค่ไหน นพ.จินดากล่าวว่า เราใช้วิธีส่งยาไปรษณีย์จะมีระบบดูแลอยู่แล้ว ส่วนแพทย์ที่มาตรวจรักษา เนื่องจากเราเป็นระบบนัดใน 24 ชั่วโมง ก็จัดอัตรากำลังแพทย์ให้สอดคล้องกับแต่ละวัน ส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 คนต่อวันก็ถือว่าพอ ส่วนภาระงานนั้น ถือเป็นการบิรหารจัดการ ก็เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่จัดตรงนี้คนไข้ก็จะมา รพ. ก็อาจจะทำให้ภาระงานมากขึ้นอีก ซึ่งแพทย์ที่เราจัดบริการจะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพราะโรคพวกนี้ไม่ใช่โรคยุ่งยากซับซ้อน หากยุ่งยากซับซ้อนก็จะส่งต่อมาตรวจที่ รพ.

อบรมรพ.ในเขตสุขภาพ13 หวังขยายรพ.เสมือนจริงเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่าเมื่อรพ.ราชวิถีประสบความสำเร็จจากระบบนี้จะขยายไปยังรพ.อื่นๆหรือไม่ นพ.จินดา กล่าวว่า  การจะขยายไป รพ.อื่นหรือไม่นั้น เราได้งบประมาณจากกรมการแพทย์ในการอบรมให้แก่ รพ.ในเขตสุขภาพ ตอนนี้ Virtual ในแต่ละที่จะไม่ค่อยเหมือนกัน และจะเป็นบริการผู้ป่วยโรคเก่า โรคเรื้อรังส่วนใหญ่ แต่สำคัญคือต้องเอาคนไข้ใหม่เข้ามาให้ได้

 

ถามถึงกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยแต่มา รพ.ระดับสูงเพื่อรักษา ระบบ Virtual Hospital จะช่วยลดความแออัดตรงนี้ลงหรือไม่  นพ.จินดากล่าวว่า สำคัญอยู่ที่การคัดกรอง จะเป็นคำแนะนำ แต่หากยืนยันจะเข้าจริงๆ ก็ห้ามไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากเข้าระบบ Virtual Hospital จะสะดวกกว่า ไม่ต้องมาแออัด พูดง่ายๆ อย่าง รพ.ราชวิถี ควรดูแลผู้ป่วยตติยภูมิจริงๆ ปฐมภูมิไม่ควรมา แต่หากมาแล้วไม่มีช่องทางให้เขาก็ไม่ได้ ซึ่ง Virtual Hospital จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วย ดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิ อย่างต่างจังหวัดก็มาใช้ได้ แต่จะยากตอนส่งยา หากไม่ต้องส่งยาแค่แนะนำให้สบายใจก็ดีขึ้น