ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

29 ม.ค.ราชวิทยาลัยสูติฯ เรียกประชุมใหญ่ผลักดันเทคโนโลยีช่วยมีลูก หวังเป็นสิทธิประโยชน์ฟรี! ด้านสูตินรีแพทย์ รพ.ราชวิถี เผยทารกแรกเกิด 10% คลอดก่อนกำหนด เสี่ยงตาย-พิการสูง พร้อมจัดระบบดูแลตั้งแต่ครรภ์เสี่ยง ให้บริการแบบครบวงจร เสริมนโยบายปั้มลูกรัฐบาล

รพ.ราชวิถี ชูส่งเสริมการมีบุตรแบบครบวงจร

เมื่อเร็วๆนี้ ผศ.พิเศษ นพ.สุเพ็ชร ทุ้ยแป หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาล(รพ.) ราชวิถี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้านโยบายส่งเสริมการมีบุตรของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย รพ.ราชวิถี ว่า รพ.ราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ ดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการมีบุตรและเด็กที่เกิดต้องมีคุณภาพ นำมาสู่การดำเนินงาน 4 เป้าหมาย คือ เพิ่มอัตราการเกิด , ลดอัตราตายทารกแรกเกิด , ลดอัตราคลอดก่อนกำหนด และเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็กคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น จึงดำเนินการครบวงจรใน 3 เรื่อง คือ 1.จัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร  2.จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้คนไข้ และ 3.ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์

10% เด็กคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเสียชีวิตและทุพพลภาพ

"ปัจจุบันพบว่าเด็กที่เกิดออกมา 10% เป็นการคลอดก่อนกำหนด เกี่ยวข้องกับทารกเสียชีวิตและทุพพลภาพ มาตรการป้องกันและรับมือคลอดก่อนกำหนด เพื่อเพิ่มคุณภาพของเด็กนั้น เราจึงทำระบบการดูแลสตรีตั้งครรภ์ เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และดูแลทารกหลังคลอด เรียกว่า DMS Preterm Corner คือ ดูแลที่คลินิกฝากครรภ์ (ANC. Preterm Corner) เพื่อดูแลครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด , ดูแลในห้องคลอด (LR. Preterm Corner) เพื่อดูแลภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด , ดูแลเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ High-Risk Newborn Clinic ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกัน"ผศ.พิเศษ นพ.สุเพ็ชรกล่าว

ให้คำปรึกษาคนอยากมีลูก

ผศ.พิเศษ นพ.สุเพ็ชรกล่าวว่า สำหรับคลินิกส่งเสริมการมีบุตร รพ.ราชวิถี สิ่งที่ดำเนินการคือ ส่งเสริมการมีบุตรโดยทำให้คนไข้มีความตระหนักรู้ องค์ความรู้ และมารับคำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น ถ้ามีปัญหามีลูกไม่ได้ ก็จะมาช่วยการเจริญพันธุ์เบื้องต้น คือ ส่งเสริมการตั้งครรภ์ เช่น ฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) ถ้ายังไม่สำเร็จก็จะไปใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่ง รพ.ราชวิถีถือเป็น รพ.แรกของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โดยให้บริการฟรี 50 คู่ ในการตรวจสุขภาพ ฟังคำอธิบาย รับคำปรึกษา ซึ่งก็เต็มโควตาอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีการพบอาจารย์แพทย์แล้ว 44 คู่ บางส่วนก็เข้ามาเจาะเลือดไว้ก่อน นัดรอฟังผล โดยบางส่วนก็ไปถึงขั้นให้ยากระตุ้นไข่แล้ว และติดตามว่าไข่โตหรือไม่ เพื่อให้ยาบังคับให้ไข่ตก หากจะฉีดน้ำเชื้อต้องมีทะเบียนสมรส ถ้าไม่มีจะใช้นับเวลาเพื่อให้ตั้งครรภ์ด้วยตนเอง แล้ว 2-3 สัปดาห์จะมาติดตามว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ตอนนี้ก็เป็นช่วงลุ้นว่าคู่ใดจะตั้งครรภ์เป็นคู่แรก ส่วนภาพรวมการให้บริการฉีดน้ำเชื้อตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2567 ดำเนินการไปแล้ว 67 คู่

"เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการดำเนินการส่งเสริมการมีบุตรนั้น ในส่วนของช่วยตั้งครรภ์ขั้นพื้นฐานอย่างฉีดน้ำเชื้อ หน่วยงานสามารถจัดหาได้ เครื่องมือไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ขั้นสูงอย่าง IVF แม้จะมีมาตรฐานที่สูง แต่ รพ.ราชวิถีเป็น 1 ใน 3 แห่งของ สธ.ที่ทำได้ ร่วมกับ รพ.มหาราชนครราชสีมา และ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งคนไข้ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีประปราย ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันคนมีทัศนคติไม่อยากแต่งงาน หรือแต่งงานไม่อยากมีลูกเพิ่มขึ้น อีกอย่างภาคเอกชนก็จะมีบริการที่เข้าถึงได้เช่นกัน" ผศ.พิเศษ นพ.สุเพ็ชรกล่าว

เปิดขั้นตอนฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก ส่งเสริมการมีลูก

ด้าน นพ.ทรงพล พุทธศิริ หัวหน้างานเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ขั้นตอนการรับบริการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกนั้น หลังจากกินยากระตุ้นไข่ 1 สัปดาห์ เมื่ออัลตราซาวนด์พบว่า ไข่ได้ขนาดจำนวนที่พอเหมาะ ฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก อีก 2 วันไข่จะตก พอถึงวันครบกำหนดไข่จะตก ก็มา รพ.ตอนเช้า สามีก็หลั่งน้ำอสุจิ แล้วเอามาผ่านกระบวนการเตรียมเพื่อให้พร้อมสำหรับการฉีดเข้าโพรงมดลูก ซึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง โดยจะนำน้ำอสุจิมาปั่นเพื่อแยกเอาสิ่งเจือปนอื่นที่เราไม่ต้องการออกไป และเอาไปใส่สารอาหารของตัวอสุจิ เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิสนธิ

"การเตรียมน้ำอสุจิ จะใช้น้ำอสุจิของสามีทั้งหมดที่หลั่งออกมา ซึ่งในคนปกติจะมีตัวอสุจิมากกว่า 16 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร ถ้าเกิดหลั่งออกมา 2-3 มิลลิลิตร ก็จะได้ 30-40 ล้านตัว เมื่อเตรียมเสร็จแล้วจะมีการเพิ่มความเข้มข้น โดยทำให้มีปริมาตรเหลือ 0.5 มิลลิลิตร ทำให้ความเข้มข้นน้ำอสุจิเยอะมากขึ้น  ซึ่งตัวอสุจิก็ยังมีเยอะหลายสิบล้าตัว" นพ.ทรงพลกล่าว

นพ.ทรงพลกล่าวว่า ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมานอนเหมือนเตียงตรวจภายในธรรมดา เมื่อทำความสะอาดแล้ว ก็จะใช้สายเล็กๆ สำหรับฉีดน้ำอสุจิ ก็ดูดน้ำอสุจิที่เตรียมไว้แล้ว และฉีดสอดผ่านปากมดลูกเมหือนการตรวจภายใน 30 วินาทีก็แล้วเสร็จ เอาสายออก ผู้รับบริการนอนพักประมาณ 15 นาทีก็กลับบ้านได้เลย ถือว่าไม่ยุ่งยาก จากนั้นจะนัดติดตามประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งโอกาสปฏิสนธิตั้งครรภ์ อยู่ที่ประมาณ 5-15% เป็นสถิติเหมือนกันทั่วโลก

สำหรับการให้บริการ IUI รพ.ราชวิถีดำเนินการมา 20 กว่าปีแล้ว เฉลี่ยประมาณ 300 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะคนมีปัญหามีบุตรยากมากขึ้น เพราะแต่งงานช้าคือสาเหตุหลัก เฉลี่ยอายุที่เข้ามาทำคือ 35 - 40 ปี ส่วนค่านิยมที่คนไม่อยากมีลูกนั้น มีผลต่อความอยากมีลูกของคนทั้งประเทศแน่นอน แต่เนื่องจากเราอยู่ในด่านสุดท้ายจึงยังไม่รู้สึกว่า คนรับบริการลดลงหรือไม่ แต่ในอนาคตหากปัญหาความรู้ไม่อยากมีลูกยังไม่ถูกแก้ ก็จะกระทบมาถึงจำนวนคนมารับบริการแน่นอน

รพ.ราชวิถี เปิดบริการเด็กหลอดแก้ว ม.ค.ที่ผ่านมา

ถามถึงกรณีคนที่ฉีดน้ำเชื้อไม่ได้ผลแล้วต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นมีมากน้อยเท่าไร  นพ.ทรงพลกล่าวว่า เราทำมากว่าสิบปีแล้ว จำนวนไม่มากประมาณ 50 รายต่อปี แต่ในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2561 ต้องเอามาทำวอร์ดโควิดสำหรับคนท้อง เราจึงปิดให้บริการในส่วนนี้ ตอนนี้กำลังจะกลับมาให้บริการเด็กหลอดแก้วตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้ ซึ่งการทำพวกอิกซี่หรือ IVF ก็ถือเป็นการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน แค่มีเทคนิคขั้นตอนการทำแตกต่างกัน

29 ม.ค.ประชุมใหญ่ผลักดันเทคโนโลยีช่วยมีลูก 

ถามว่าราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ จะมีการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นสิทธิประโยชน์ นพ.ทรงพลกล่าวว่า วันที่ 29 ม.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุมใหญ่ คณะทำงานมีทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประเทศ เพื่อมาหาจุดร่วมกัน ว่าภาครัฐจะสนับสนุนการเบิกจ่ายในการทำฉีดน้ำเชื้ออย่างไร รวมไปถึงการทำเด็กหลอดแก้วอย่างไรต่อไป หากมีข้อสรุปก็จะเสนอเข้าสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งในวันนั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ก็จะมาเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน