ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดอนามัยเจริญพันธุ์ฯ ถกเพิ่มสวัสดิการหวังส่งเสริมการมีบุตร เล็งปรับเกณฑ์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรับได้อายุ 6 เดือนขึ้นไป พร้อมพิจารณาเพิ่มจำนวนวันลาคลอดมากกว่า 3 เดือน ทำรายละเอียดก่อนเสนอกระทรวงเกี่ยวข้อง คาดจัดมาตรการปั้มลูกวาระแห่งชาติแล้วเสร็จเดือนนี้ ก่อนเสนอครม.ต้นปี 67

 

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า การประชุมครั้งนี้มาพิจารณาประเด็นที่จะเสนอการส่งเสริมการมีบุตรเป็น "วาระแห่งชาติ" ว่าจะประกอบด้วยอะไร โดยกรรมการเห็นว่า ควรจะใช้ว่า การส่งเสริมการเกิดและการพัฒนาประชากรอย่างมีคุณภาพ เน้น 3 มิติ คือ 1.ส่งเสริมให้การเกิดมีความพร้อมที่จะมีบุตร 2.พัฒนาปัจจัยสิ่งแวดล้อม และ 3.มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนการขับเคลื่อนจะมีการดูทุกมิติ เช่น ก่อนเกิดจะคัดกรองเด็กอย่างไร ว่ามีความสมบูรณ์ เพื่อเกิดรอดปลอดภัย หลังเกิด 6 เดือนจะดูแลอย่างไร และการดูแลเด็ก มาตรการจะมีการเติมเรื่องความปลอดภัยลงไปด้วย เรียกว่าเด็กเกิดรอดปลอดภัย หรือเรื่องสถานที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมต่างๆ จะทำให้ครอบคลุมทุกมิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ปัจจัยเอื้อปัจจัยหนุน เพื่อทำร่างในหลักการเสนอ ครม.

ชงตั้งคกก.ชุดนายกฯ-รองนายกฯ ดันขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการมีลูก

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาเรื่องคณะกรรมการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงเสนอว่าน่าจะมีระดับนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่มอบหมายมาเป็นกรรมการ โดยมีกรรมการเป็นเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติจริงเป็นกรรมการชุดนี้ ส่วนกรรมการขับเคลื่อนหลักก็จะเป็นกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์รองรับ

วัดอัตราเจริญพันธุ์ด้วยการสร้างให้สมดุล 'ไม่เพิ่ม แต่ต้องไม่ลด'

"เดิมเรากำหนดเป้าหมายวัดอัตราการเจริญพันธุ์เป็นหลัก แต่กรรมการมองว่าอาจเห็นภาพไม่ชัด เพราะต้องวัดในระยะยาว จึงเติมเต็มเรื่องเป้าหมายต่างๆ เข้าไป เช่น ลดอัตราตาย เพิ่มอัตราเกิด อย่างองค์การอนามัยโลกไม่ได้พูดเรื่องการเพิ่มหรือลดการเกิด แต่พูดเรื่องคุณภาพ การเข้าถึง ความปลอดภัยเป็นหลัก หมายความว่าแม้เกิดมาน้อย แต่ขอให้มีคุณภาพ หลักคือ ทำอย่างไรให้สมดุล ไม่เพิ่ม แต่ไม่ลด เช่น อัตราตาย 5 แสน ก็ควรเกิด 5 แสน เพื่อให้มีวัยทำงาน สูงอายุ บาลานซ์กัน" นพ.ชลน่านกล่าว

เล็งปรับเกณฑ์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรับกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป  

ถามถึงการเพิ่มสวัสดิการส่งเสริมการเกิด นพ.ชลน่านกล่าวว่า อยู่ในหลักเกณฑ์ทั้งหมด เช่น มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รองรับตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเดิมรับ 1 ปีครึ่ง 2 ปี ถึง 6 ปี แต่เราเน้นว่าเด็กเล็กช่วง 6 เดือน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน่าจะรับ เพราะก่อน 6 เดือนควรอยู่กับแม้และครอบครัว เพื่อส่งเสริมการให้นมบุตร ส่วนเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตรยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดชัดว่าต้องจ่ายอย่างไร แค่กำหนดว่าจะต้องส่งเสริมดูแลให้อยู่อย่างมีคุณภาพ แต่จะต้องให้เดือนเท่าไรยังไม่มีการพูดถึง แต่อยู่ในเกณฑ์ที่จะพิจารณา เพราะเราต้องการไม่ให้มีภาระเรื่องการเลี้ยงดู ว่ามีเงินสิ่งสนับสนุนช่วยเหลือก็จะมีความมั่นใจที่จะมีลูด

 

อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มจำนวนลาคลอดมากกว่า 3 เดือน 

ถามต่อถึงการลาคลอดที่อยากให้มากกว่า 3 เดือน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตรงนี้กรรมการบางท่านเสนอเป็นเรือธง Flagship เลย โดยให้ไปทำข้อเสนอมา เช่น ต้องเพิ่มจำนวนการลาเพื่อดูแลบุตรอย่างไร จากเดิม 3 เดือน จะขยับเพิ่มมากกว่าเดิมเป็นกี่วันกี่เดือน ก็ให้ไปทำรายละเอียดเข้ามา ซึ่งก็เสนอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องในกรรมการไปดู และมีการสอบถามทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าเพิ่มแล้วกระทบเรื่องงานต่างๆ หรือไม่อย่างไร มีความเห็นอย่างไรก็สะท้อนกลับมาก่อนเสนอ ครม.

มาตรการปั้มลูก คาดแล้วเสร็จ 28 ธ.ค.ก่อนเสนอครม.ต้นปี 67

ถามถึงไทม์ไลน์เพื่อเสนอ ครม.  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ฝ่ายเลขาฯ รับปากว่าจะทำรายละเอียดข้อเสนอให้เสร็จภายในเดือนนี้ คาดว่าวันที่ 28 ธ.ค. และจะเสนอ ครม.น่าจะเป็นต้นปี 2567 เพราะวันที่ 26 ธ.ค. เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่จะประชุม ครม.ในปีนี้