ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข เผยเมื่อวัยแรงงานจำกัด เหตุอัตราเกิดน้อย ชูวัยเกษียณยังทำงานได้ใช้ประสบการณ์รูปแบบ Soft power ขณะที่กรรมการสุขภาพแห่งชาติ แนะรัฐหาช่องทางงานที่เหมาะสมผุ้สูงอายุ พร้อมเพิ่มผลิตภาพ  Productivity ทุกช่วงวัย หนุนหลากหลายหน่วยงาน ทั้ง สช.-สสส. ฯลฯ ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพเด็ก ควบคู่นโยบายปั้มลูกของรัฐบาล

 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสุขภาวะเพื่อการพัฒนาประชากรทุกกลุ่มวัย” ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566

ทำอย่างไรเมื่อคนสูงอายุมากขึ้น เด็กเกิดน้อย กระทบวัยแรงงาน

นายวิชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ประมาณ 13 ล้านคนแล้ว ขณะที่ตัวเลขอัตราการเกิดต่ำมาก สิ่งที่น่ากลัวคือ การที่ประเทศไม่มีวัยหนุ่มสาวมาทำงาน มาบริหารดูแลประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าแรงงาน ขณะที่คนของเราไปไหน ซึ่งไปเรียนไปศึกษาหาความรู้ เพียงแต่ลืมว่าต้องมีครอบครัว และต้องมีการสืบสกุล กลายเป็นอนาคตผู้สูงอายุใครจะดูแล สิ่งเหล่านี้ก็เกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่อยากมีบุตร แน่นอนว่า  ความกลัวสังคม กลัวสภาวะแวดล้อมว่า มีลูกจะเป็นอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจ การหาเงินลดลง นี่เป็นปัจจัยให้การมีลูกน้อยลง ซึ่งคนยังอยากมีคู่ แต่อยากมีบุตรน้อยลง

วัยเกษียณทำงานได้ ใช้ประสบการณ์เป็น Soft power

นายวิชาญ กล่าวว่า ผลกระทบเมื่อคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้อีก ทางรัฐก็ต้องมีสวัสดิการดูแลต่างๆ ทั้งเบี้ยคนชรา การดูแลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งรัฐก็ต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรงมากขึ้น  ส่วนเด็กเมื่อมีจำนวนน้อยลง ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ก็แสดงว่าอัตราการเกิดของเขายังมีแรงงานขับเคลื่อนได้ อย่างของไทยคนสูงอายุ 60 ปีเกษียณ แต่ทุกวันนี้ยังต้องทำงาน อย่างหมอ อัยการก็ยังทำงานอยู่  หากอัตราการเกิดยังอยู่แค่ 1.08% จากที่ต้องการถึง 2.1% หรือต้องให้ผู้หญิง 1 คนควรให้กำเนิดบุตร 2 คน  

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คนเกิดน้อย เมื่อแรงงานยังจำกัด เราจะทำอย่างไร อย่างเรื่องอาชีพต้องมีการปรับอย่างเกษตรก็ต้องแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแรงงานที่ขาดแคลน  อย่างหากไทยจะเป็นฐานการผลิตด้านเศรษฐกิจ  เราต้องกลับมามองว่า จะสร้างประชากรอย่างไร ให้เขารู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ อย่างการตกงานว่างงาน รัฐก็ต้องมาดูอย่างครบวงจร

ส่วนคนสูงอายุวัยเกษียณที่ต้องการทำงาน ก็ต้องมาดูว่า สามารถหางานที่เอื้อต่อพวกเขาอย่างไร เช่น การใช้ประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ อย่างวัฒนธรรมประเพณีของใช้ต่างๆ ที่นึกถึงเมืองไทย โดยให้คนสูงอายุที่มีประสบการณ์ตรงนี้มาเล่าเรื่องบอกเล่าทำเป็น Soft power

“ส่วนคนที่อยากมีลูก แต่ไม่มี ปัจจุบันรัฐเรามีสวัสดิการเรื่องการดูแลผู้มีบุตรยาก หรือแม้แต่ลาคลอด 3 เดือนเพียงพอหรือไม่ รัฐก็ต้องมาดูว่าจะขยายได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาและมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมอย่างครบถ้วน” นายวิชาญ กล่าว

แนะรัฐต้องเพิ่ม   Productivity   คนวัยเกษียณที่ยังทำงานได้   

ด้าน ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ อย่างอายุขัยคนไทยน่าจะเฉลี่ย 76-77 ปี  หากมองตั้งแต่ต้นน้ำ การที่จะต้องมีครอบครัว วางแผนมีลูกต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร และตลอด 70 ปีจะทำให้คนไทยภูมิใจคุณค่าต่อตัวเองและสังคมอย่างไร  ข้อมูลปัจจุบันคนแต่งงานน้อยลง อย่างคนเคยเกิดปีละ 8 แสนเหลือ 4-5 แสนคน การจะทำตัวเลขขยับขึ้นย่อมไม่ง่าย อย่างตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เขาเจอปัญหานี้และตื่นตัวเรื่องนี้มาก แต่ผ่านมา 10 ปีตัวเลขก็ยังไม่ขยับ ทั้งที่ใช้งบประมาณเยอะมาก

“ดังนั้น ต้องรู้ก่อนว่า เกิดอะไรบนโลกใบนี้ มีประเทศไหนทำแล้วยังไม่ได้ ทำยากยังไม่สำเร็จมากนัก เราก็ไม่เดินตาม เพราะงบประมาณเราไม่เท่าประเทศเหล่านี้ จึงต้องคิดแบบใหม่ๆว่าจะทำอย่างไร ส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ สำหรับคนเกิดอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ  อย่างคนสูงอายุ เกษียณแล้วในอดีตต้องอยู่บ้าน แต่จริงๆ เราจะต้องวางอย่างไร เพราะคนทุกช่วงวัยมีข้อดีกันหมด เราต้องนำมาสร้างให้เกิดคุณค่าขึ้นได้” ดร.สัมพันธ์กล่าว

ดร.สัมพันธ์กล่าวอีกว่า หากเรายังใช้เศรษฐกิจในวงจรเดิมๆ จะไปต่อยากมาก เพราะคุณค่าต่อตัวบุคคล คนก็น้อยลงเรื่อยๆ   จากกับดักรายได้ปานกลาง อาจเป็นแย่มากก็ได้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ทุกอย่างต้องเปลี่ยน ต้องใช้คนน้อยแต่มีคุณค่ามากขึ้น  สิ่งสำคัญคนที่มีอยู่ในแต่ละช่วงวัยตอนนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดผลิตภาพ  Productivity  อย่างคนสูงอายุ จะอยู่เฉยๆเป็นหลักหรือไม่ ซึ่งไม่ได้แล้ว เพราะคนกลุ่มนี้หลายคนอยากทำงาน แต่งานปัจจุบันไม่เอื้อ ดังนั้น รัฐบาลต้องมาคิดว่า งานแบบไหนที่คนอายุ 60 ปีกว่าๆทำได้ เพราะเขาก็อยากมีคุณค่า ไม่อยากอยู่เฉยๆ ส่วนคนวัยแรงาน ต้องมาคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา จะเพิ่มผลิตภาพอย่างไร ส่วนวัยเยาว์ ก็มาถึงการศึกษา สังคมจะพลิกโฉมการศึกษาอย่างไรให้เขามีความพร้อมในการทำผลิตภาพเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต้องมาดูว่า สภาพปัจจุบันของประเทศในแต่ละขั้น แต่ละกลุ่มวัยอยู่ตรงไหน มีช่องว่างอะไรบ้าง  ต้องคิดเชิงระบบแยกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนต้องการปัจจัยในการปรับปรุงแก้ไขคนละแบบอย่างสิ้นเชิง

ต้องพัฒนาคนให้ทั้งดีและเก่ง ผสมผสานให้เป็นคนสมบูรณ์

ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า  การพัฒนาคนนั้น ต้องบอกว่า คนเก่งแต่ไม่ดีก็ไม่รอด ดนดีไม่เก่งก็ไม่รอด จะทำอย่างไรให้คนไทยแต่ละช่วงวัย ต้องเก่งและดีอยู่ในตัวเอง เป็นผู้นำ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ตอนนี้ประเทศมีเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ต้องสนใจว่าตีความอย่างไร แต่เราเห็นแล้วว่า ทุกอย่างต้องเทคโนโลยี ต้องเก่ง แต่ต้องผสมผสานให้เป็นคนสมบูรณ์ จะได้มีความเข็มแข็งมีคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเติมอะไร อย่างตั้งแต่เด็ก หลังคลอด พบว่าลูกอยู่กับพ่อแม่มีน้อย เพราะพ่อแม่ต้องทำงาน อยู่คนละจังหวัด ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย อันนี้ชีวิตจริง แต่จะอยู่อย่างไรให้มีคุณภาพ

“โจทย์ตรงนี้จะเห็นว่ารัฐ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และส.ต่างๆ รวมไปถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีโครงการในการสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ ก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กไปสู่การมี  Productivity” ดร.สัมพันธ์ กล่าว