ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทนายแจม “ศศินันท์” จวกรัฐงบประมาณปี 67 ไม่เอื้อส่งเสริมคนมีลูก ติงนโยบายปั้มลูก “หมอชลน่าน” เป็นวาระแห่งชาติ แต่งบกลับน้อยนิดเพียง 2 ล้าน จากงบแม่และเด็ก 46 ล้าน แนะรัฐจัดสวัสดิการเพิ่ม!  ทั้งขยายวันลาคลอด 180 วัน จัดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อดูแลแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างเต็มที่ เพิ่มอุดหนุนถ้วนหน้า ฯลฯ

 

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่รัฐสภา  น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล หรือทนายแจม อภิปรายตอนหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตเด็กเกิดต่ำ ในการประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันที่สาม  ว่า เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นข่าวว่า ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตกใจว่าเด็กเกิดต่ำในรอบ 71 ปี ชี้เป็นการบ้านของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ไขวิกฤตเด็กเกิดต่ำ ต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาล แต่งบประมาณปี 67 กลับยังเห็นไปสร้างความเจริญในสิ่งก่อสร้าง แต่ขาดงบการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

 

ติงนโยบายปั้มลูก ‘หมอชลน่าน’ ดันวาระแห่งชาติ แต่งบกลับน้อยนิด

“วิกฤตเด็กเกิดต่ำ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดเป็นนโยบายควิกวิน นโยบายเร่งด่วน ออกแคมเปญมากมาย แต่งบประมาณปี 67 กลับไม่ต่างจากปี 66 ทำให้รู้ว่าใส่ใจแค่ไหน อย่างปี 67 นอกจากเราจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ยังเป็นปีแรกที่สัดส่วนแรงงานลดลงต่ำ เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ สาเหตุหนึ่งมาจากวิกฤตเด็กเกิดต่ำ” น.ส.ศศินันท์ กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายอีกว่า วิกฤตเด็กเกิดต่ำไม่ได้แค่ประเทศเราที่ตกใจ บางประเทศก็ออกมาตกใจและขอให้คนมีลูก แต่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลใส่ใจงบประมาณมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ขอร้องให้ประชาชนมีลูกอย่างเดียว อย่างรัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 8 เท่า นอกจากนั้นยังเพิ่มเงิน 2 เท่าให้คนมีลูก จาก 7-8 พันบาท/เดือน เป็น 2 หมื่นบาท/เดือน ประเทศสิงคโปร มีอัตราเด็กเกิดต่ำเช่นกัน แก้ไขด้วยการเพิ่มค่าเลี้ยงดูเด็ก 30%  ยังมีเบบี้โบนัสกระตุ้นคนมีลูก และประเทศไต้หวัน ด้วยการเพิ่มเงินอุดหนุน และเพิ่มงบประมาณจาก 15,000 เหรียญไต้หวัน เป็น 8 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่ม 5 เท่าและมีแนวโน้มเพิ่มอีก เพราะเห็นวิกฤตจริงๆ และตอนนี้กำลังรณรงค์เลือกตั้ง จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง และเรื่องนี้ยังถูกบรรจุในประเด็นความมั่นคงของชาติฉบับที่ 1 อีกด้วย

จวกรัฐงบส่งเสริมมีลูกแค่ 46 ล้านบาท

น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า เมื่อมองมาถึงนโยบายรัฐบาลก็ยังไม่เห็นมีเรื่องไหนเกี่ยวกับวิกฤตเด็กเกิดต่ำเลย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเริ่มจากการตั้งครรภ์ การส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ  แต่เมื่อดูในงบฯปี67 งบดำเนินการอยู่แค่ 46 ล้านบาทเท่านั้น นี่คือวิกฤต เทียบกับกระทรวงอื่นๆ น้อยกว่าค่าอาวุธยุทโธปกรณ์เสียอีก น้อยกว่าโครงการการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวง

ติงงบสธ.ปั้มลูกแค่ 2 ล้านบาท

“ ที่สำคัญงบประมาณในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตรที่ท่านชลน่าน พูดออกสื่อบ่อยๆ เรื่องนโยบายปั้มลูก นโยบายมีอยู่แค่ 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ถ้าเทียบกับงบสัดส่วนงบประชุมของกระทรวงท่านเองแล้ว จ่ายค่าเบี้ยประชุมเบี้ยกรรมการหมดแล้ว ไม่เหลือ เมื่อตัดสินใจจะมีบุตร พ่อแม่ทุกคนก็จะกังวลว่า ลูกจะสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งงบแม่และเด็ก 46 ล้านบาท มีอยู่ 12 ล้านบาทที่บอกว่า สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่งเสริมการตั้งครรภ์และการเกิดอย่างมีคุณภาพ” น.ส.ศศินันท์ กล่าว

แผนงานกรมอนามัยคัดกรองความพิการทารก ห่างไกลวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดแผนงานในงบดังกล่าว อย่างของกรมอนามัย แผนไม่มีอะไรใหม่ เหมือนเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใส่ที่เดิม ห่างไกลจากนโยบายเชิงรุก ห่างไกลจากวาระแห่งชาติ และงบประมาณคัดกรองความพิการสำคัญมาก แต่งบฯแผนของกรมอนามัยของปี 65 อยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น และจำนวนนี้เน้นคัดกรอง ไม่เน้นว่าคัดกรองเสร็จแล้วทำอะไรต่อ การตั้งงบฯแบบนี้น้อยเกินไป นี่เป็นการจัดสรรงบของกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกจะเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่เป็นกระทรวงนำร่องที่พร้อมจะแก้ปัญหาจริงๆ ส่วนงบประมาณปี 66 และ 67 ไปดูว่าแตกต่างอย่างไร พบว่าต่างกันแค่ 2 แสนบาทเท่านั้น อยากให้เด็กเกิดเยอะ แต่เพิ่มแค่นี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เขาเพิ่มกัน 2 เท่า 5 เท่า 8 เท่า แต่ของเราเพิ่ม 2 แสนบาท

แนะสธ.ทำควิกวินขยายการลาคลอด 180 วัน

“ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นนโยบายควิกวินของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ควรเป็นกระทรวงนำร่องในการร่วมกันประชาสัมพันธ์เรื่องลาคลอด 180 วันที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นไปแล้ว ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะท่านนายกฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการลงทุน ห้องเปลี่ยนแพมเพิส ห้องให้นมที่ต้องมีในทุกที่ด้วย”

น.ส.ศศินันท์ กล่าวว่า ยังมีเรื่องวิกฤตนมแม่ ที่องค์กรยูนิเซฟระบุว่าไทยมีอัตราการให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเพียงร้อยละ 29 ขั้นต่ำคือร้อยละ 50 ซึ่งท่านชลน่าน เคยรับปากถึงเรื่องระเบียบโรงพยาบาลว่า เมื่อหลังคลอดทันทีควรพาทารก มาไว้ที่อกแม่ทันที ซึ่งยูนิเซฟเก็บข้อมูลว่ามีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ทำตามเรื่องนี้  อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาสังคม ต้องเริ่มจากวัยเด็ก ซึ่งเรื่องนี้ต้องชื่นชมกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และงบพัฒนาการเด็ก รวมทั้งเล่นเปลี่ยนโลก ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะดีกว่านี้หากงบครอบคลุมมากขึ้น และกระจายไปท้องถิ่น

ขอจัดเวลาให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมดูแลแม่ตั้งครรภ์

“การจัดสวัสดิการที่ดีให้พวกเขา จะช่วยให้ตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น เช่น วันลาคลอด 180 วัน ชั่วโมงการทำงานของบุคลาการทางการแพทย์ที่เหมาะสมเพื่อดูแลแม่และเด็กในครรภ์ได้อย่างเต็มที่ มีระบบการศึกษาดี ไม่แพงเกินไป ไม่ต้องกังวลว่าลูกไปเกนฑ์ทหารจะถูกซ้อม ซึ่งขอสรุป 4 ข้อเสนอหลักๆให้รับฐบาลรีบผลักดัน คือ 1.สิทธิลาคลอด 180 วันทั้งพ่อและแม่ให้ได้รับค่าจ้างเต็มเวลา 2.เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอย่างถ้วนหน้า 3.สร้างและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก DayCare ให้มีมากขึ้นและควรมีมาตรฐาน และ4.รัฐบาลจะต้องลงทุนส่งเสริม สวัสดิการต่างๆที่เอื้อประโยชน์ต่อการมีลูก จัดห้องให้นมห้องเปลี่ยนแพมเพิสหาง่ายกว่านี้”  น.ส.ศศินันท์ กล่าว