ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมียนมา-ไทย ร่วมแก้ฝุ่นควันข้ามพรมแดน ส่งต่อองค์ความรู้ทางวิชาการ สสส.โชว์พื้นที่ชุมชนอาสาพัฒนาคลองสามวา ต้นแบบลดการเผาในที่โล่ง สกัดต้นตอสำคัญฝุ่น PM2.5 สาเหตุการป่วยของประชากรโลกปีละกว่า 1.3 ล้านคน 

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง, กรมควบคุมมลพิษ, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยและเยี่ยมชมนวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังลดการเผาในที่โล่งภาคการเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนจากการเผาไหม้ระหว่างไทย – เมียนมา (The Technical Workshop and Study Visit on Transboundary Haze Pollution Management Between Thailand and Myanmar) ที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และชุมชนอาสาพัฒนา เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก มีประชากรรวมกันกว่า 150 ล้านคน มีแนวโน้มการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลพิษทางอากาศถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรทั่วโลก ปี 2556 

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ มีทั้งผลระยะสั้น เช่น 

  • ระคายเคืองตา คอ จมูก 
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือผิดจังหวะ 
  • โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ 
  • หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ 

ผลระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง คลอดก่อนกำหนด อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต ซึ่งปกติปอดมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หากมีสารพิษกระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอด จะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว 

“สสส. มุ่งสร้างสุขภาวะประชาชน โดยเน้น “สร้างนำซ่อม” ได้ยกระดับการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านการลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) โดยมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน มีความเกี่ยวเนื่องกับหลายฝ่าย ไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยลำพัง โครงการนี้ มีการกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” นพ.พงศ์เทพ กล่าว 

นายยอดยิ่ง ศุภศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนนี้ เกิดขึ้นจากการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญที่กระทบกับชีวิตของประชาชนไทย–สปป.ลาว–เมียนมา และสอดคล้องกับผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่าย เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่ฝังรากลึกในวิถีชุมชนและการทำการเกษตร เป็นปัญหาร่วมของทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน และลดการเผาไหม้เพื่ออากาศสะอาดและมลภาวะที่ดีของทุกคน 

นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน (Satellite Fire Hotspot Monitoring) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการภาคการเกษตร (Agricultural Management) ให้กับฝ่ายเมียนมา ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” ของไทย โดยฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเชิงเทคนิคให้กับเจ้าหน้าที่เมียนมาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย จำนวน 10 คน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ รวมถึงสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งในไทยและเมียนมาในอนาคตต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง