ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตือน! หมอคลินิกเสริมความงามห้ามโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งรีวิวคลินิก หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ผิดกฎหมาย และเสี่ยงผิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ด้านสบส.เผยเจอคนร้องเรียนแทบทุกวัน ย้ำ! โฆษณาต้องขออนุญาตทุกครั้ง

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคลินิกเสริมความงาม และมีการรีวิวคลินิกถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหรือไม่ ว่า เบื้องต้นคือหากไม่ขออนุญาตโฆษณาสถานพยาบาลก็คือผิดแน่นอน แต่ทุกวันนี้มีคนมาขออนุญาตโฆษณาสถานพยาบาลกันเยอะ ซึ่งการมาขออนุญาต ก็ต้องบอกว่าจะเอาอะไรไปโฆษณา เช่น ภาพนิ่ง ตัวหนังสือเขียนว่าอย่างไร หน้าตาคนโฆษณาเป็นอย่างไร โดยจะต้องส่งตัวสำเร็จรูปที่จะเผยแพร่ให้ สบส.พิจารณาอนุญาตก่อนที่จะโฆษณาได้ ซึ่งเราพิจารณาเป็นรายชิ้น

ถามต่อว่าโฆษณาที่ได้รับอนุญาตแล้วจะมีการลงเลขทะเบียนรับอนุญาตไว้หรือไม่ นพ.สุระกล่าวว่า ก็จะเขียนว่าได้รับอนุญาตจาก สบส.แล้ว หรือมีการลงทะเบียนรับอนุญาตโฆษณาไว้  ถามต่อว่าจะใช้เลขทะเบียนโฆษณาเป็นจุดสังเกตได้หรือไม่ว่า การรีวิวในโซเชียลพวกนี้ผ่านการรับรองแล้ว หรือหากไม่มีเลขก็เข้าข่ายว่าโฆษณาไม่ได้รับอนุญาต นพ.สุระกล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นข้อสังเกตได้ หากไม่มีเลขพวกนี้ก็อาจจะไม่ได้ผ่านการขออนุญาต อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีที่ได้รับอนุญาตแล้วไปเติมเนื้อหาอีก ตรงนี้ก็มีความผิดเช่นกัน ซึ่งเราจะพิจารณาเนื้อหาสาระว่ามีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงหรือไม่

เมื่อถามว่ากรณีแพทย์โฆษณาผลิตภัณฑ์ในคลินิกของตนจะเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เรื่องการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์ความงามนั้นทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งของสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.) หรือหากลงพื้นที่ก็จะร่วมกับตำรวจ และหากมีแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องร่วมกับแพทยสภา อย่างหากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เปิดคลินิก มีการรีวิวคลินิกของตนก็จะเข้าข่ายโฆษณา จำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่หากมีการขายของ ปักตระกร้าในโซเชียลฯ ให้คนที่ดูมาซื้อ อันนี้เข้าข่ายโฆษณาชัดเจน ก็ต้องตรวจสอบร่วมกันกับทางแพทยสภา เพราะจะมีเรื่องจริยธรรมด้วย

นพ.สุระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสบส.มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในออนไลน์ หากตรวจเจอก็จะส่งให้กับสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อย่างแพทย์ก็ส่งแพทยสภา ซึ่งก็พบเรื่อยๆ เจอแทบทุกวัน ซึ่งหมอไม่สามารถโฆษณาอะไรได้ บอกว่าผลิตภัณฑ์อะไรไม่ได้ จะมาบอกว่าให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่ได้เลย ยกตัวอย่าง สารนี้มีคุณสมบัติอะไรแบบนี้ทำได้ แต่หากพูดไปแล้วมีผลิตภัณฑ์มาตั้ง หรือแม้แต่ไปตอบในคอมเมนท์ก็ไม่ได้เช่นกัน ไม่สามารถบอกยี่ห้ออะไรได้เลย

“หากกองกฎหมายของสบส.พบก็จะเรียกมาพบเพื่อแจ้งให้ทราบและชำระค่าปรับ ซึ่งหากไม่ขออนุญาตโฆษณาจะมีโทษปรับ แต่หากโฆษณาเกินความเป็นจริงก็จะมีการเปรียบเทียบคดีปรับไม่เกิน 2 หมื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ที่ผ่านมาเราชี้แจงตลอด มีเฟซบุคไลฟ์ก็แจ้งตลอด ดังนั้น จะไม่ทราบไม่ได้ เรื่องนี้เป็นการคุ้มครองประชาชน”อธิบดีสบส.กล่าว และว่า   ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นแจ้งมาที่สบส.ได้ Call Center โทร 02-193-7000 

ถามว่ากังวลหรือไม่ที่หากแพทย์มารีวิวขายผลิตภัณฑ์ เป็นความร่วมมือของหลายส่วนราชการ เพื่อร่วมกันกำกับเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ยิ่งตอนนี้เราชูเมดิคัลฮับ เราก็ต้องเข้มข้น เพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์ ทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย ตามจริยธรรมวิชาชีพ