ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผนึกกำลังเครือข่ายงดเหล้าชี้ "น้ำเมา" ทำคนไทยตายไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคนต่อปี แต่รัฐกลับเมินไม่ฟังเสียงประชาชนผู้รับผลกระทบ ด้านนักวิชาการเผยมีกม.คุมเหล้า ลดสัดส่วนนักดื่ม ล่าสุดเสนอ ร่าง กม.ปรับปรุงคุมน้ำเมา 3 ฉบับ

 

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์  ที่เดอะฮอลล์ บางกอก  ภายในงาน "ครบรอบ 16 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท่ามกลางกระแสเสรี"  ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา มีการช่วยกันผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ต้องต่อสู้อย่างมาก ไปนอนหน้าตลาดหลักทรัพย์ หน้าสภา เดินรณรงค์ มีคนเข้าชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.นี้กว่า 13 ล้านรายชื่อกว่าจะได้กฎหมายออกมา ไม่น้อยกว่า ส.ส.ที่ได้คะแนนเสียงมา แล้วจะมาแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ให้อ่อนแอลง จึงเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสียง เพราะคนไทยตายจากแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคนต่อปี อาจจะตายทุก 5-10 นาที แต่รัฐบาลยังไม่ได้ยินเสียงผู้รับผลกระทบ ทั้งผู้พิการ ผู้เสียชีวิตและญาติของผู้คนเหล่านี้ แต่คำนึงถึงคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้ที่ได้ประโยชน์จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งวันนี้มีหลายเครือข่ายมาร่วมกัน พลังของพวกเราจะส่งเสียงให้รัฐบาลและสภาได้ยินว่า ประชาชนจำนวนมาก ยังเดือดร้อนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าแก้กฎหมายให้อ่อนลงกว่าเดิม ถ้าจะแก้ควรแก้ให้ดีขึ้น 

 

นักวิชาการเผยมีกม.คุมเหล้า ลดสัดส่วนนักดื่ม

รศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครบรอบ 16 ปีแล้ว สาเหตุที่ต้องควบคุมนั้น จากงานวิจัยของประเทศอังกฤษ เรียงลำดับความอันตรายของสิ่งเสพติด อันดับ 1 คือ แอลกอฮอล์ 72 คะแนน สูงกว่าเฮโรอีน บุหรี่ และยาบ้า ทั้งยังเป็นสิ่งเสพติดชนิดเดียวที่เป็นภัยต่อผู้อื่นที่ไม่ได้ดื่มสูงกว่าผู้ดื่ม ดังนั้น การบอกว่าการบริโภคเป็นเสรีภาพอย่างเดียว รัฐไม่ควรมายุ่ง คำถามคือสวัสดิภาพคนอื่นๆ ที่ไม่ดื่มใครต้องรับผิดชอบ 

 

"องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ 5 มาตรการ ลดการเข้าถึง/ลดการมีอยู่ของแอลกอฮอล์ในสิ่งแวดล้อม , เมาแล้วขับ , บำบัดรักษา , คุ้มครองจำกัดการโฆษณา โปรโมชัน การตลาด และมาตรการทางภาษี ซึ่ง 3 ใน 5 อยู่ใน พ.ร.บ.แล้ว มีการจำกัดสถานที่จำหน่าย เวลาห้ามจำหน่าย ดังนั้น พ.ร.บ.ไม่ได้ขัดกับหลักวิชาการและมาตรการสากล ซึ่งเราออก พ.ร.บ.มาก่อนที่จะมีคำแนะนำด้วยซ้ำ" รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว 

รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าวว่า หลังมี พ.ร.บ.เมื่อปี 2551 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปริมาณการบริโภคของผู้ดื่มค่อนข้างคงที่ไปในทางลดลง จากปี 2550 ผู้ดื่ม 30% ในประชากร ปี 2564 อยู่ที่ 28% ลดมา 2% ในเพศชายลดจาก 52% เหลือประมาณ 46% ลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงไม่ค่อยเปลี่ยน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางปี สัดส่วนนักดื่มอายุ 15-19 ปี และ 60 ปีขึ้นไปลดลง ส่วนสัดส่วนนักดื่มอายุ 20-49 ปี ค่อนข้างคงที่ ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปีใหม่และสงกรานต์ 7 วันอันตราย จากการถามข้อมูลคนไข้ที่เข้ามาห้องฉุกเฉินว่า ได้ดื่มแอลกอฮอล์มาหรือไม่ใน 6 ชั่วโมง พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ลดลงเรื่อยๆ จาก 40% เหลือ 26% โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง 12.2% และช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง 9.5% แต่ที่ลดลงมากคือปี 2563 ช่วงโควิด สำหรับปริมาณการดื่มจากกรมสรรพสามิต ก่อนมี พ.ร.บ. การเพิ่มขึ้นของการดื่มต่อคนต่อปีอยู่ที่ 0.18 ลิตรต่อคนต่อปี ถ้าไม่มี พ.ร.บ. ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังมี พ.ร.บ. แนวโน้มจะดูเพิ่ม แต่การเพิ่มต่ำลงเยอะ เหลือ 0.02 ลิตรต่อคนต่อปี 

 

"สรุปหลังมี พ.ร.บ.สัดส่วนนักดื่มค่อนไปทางลดลง โดยเฉพาะเพศชายและสูงอายุลดลงเยอะ สัดส่วนช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตรายลดลงต่อเนื่องสิบกว่าปี ปริมาณการบริโภคและอัตราการเพิ่มการบริโภคลดลง ซึ่งข้อมูลมาจากคนละแหล่ง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อในสังคมว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผลอะไรเลย เป็นการพูดลอยๆ จากความเห็น อคติส่วนตัว โดยไม่ได้ดูข้อมูลอะไรเลย" รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว 

 

รศ.นพ.อุมศักดิ์กล่าวว่า ความคิดแบบเสรีนิยมกลายเป็นกระแสหลักของสังคม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อรัฐที่มีการใช้อำนาจเยอะๆ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประโยชน์ ก็ถูกเหมารวมว่ากลายเป็นมาตรการที่ใช้ในการควบคุมประชาชนเช่นกัน อีกทั้ง มีความพยายามแก้กฎหมายเพื่อหย่อนความเข้มข้นของกฎหมาย ที่ได้ยินคือ "สุราก้าวหน้า" ปลดล็อกเรื่องการผลิต หากปลดล็อกจริงตามที่เสนอ จะทำให้มีการผลิตออกมาในตลาดมากขึ้น อีกเรื่องคือ มาตรา 32 ที่ควบคุมการโฆษณา อยากให้ปลดล็อกให้โฆษณาได้ ล่าสุด มีความพยายามแก้กฎหมาย นำเสนอในรัฐสภาวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งร่างที่อยากให้เสรีขึ้น บอกว่าจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเกินความจำเป็น เป็นอุปสรรคประกอบอาชีพ ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และร่างที่อยากควบคุมที่ชัดเจนขึ้น 

 

รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอมาตรการควบคุมนั้น คือ 1.ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ใช่แค่จะได้ดื่มหรือโฆษณา แต่พูดถึงเสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มอย่างรอบด้าน รวมถึงผลกระทบและผลการลดปัญหาจากมาตรการต่างๆ 2.มาตรการควบคุมทั้งหลาย ชอบพูดว่าเป็นมาตรการที่ประเทศไทยเท่านั้นที่ทำ ยืนยันว่าไม่จริง อยู่บนหลักการเดียวกันกับคำแนะนำระดับสากล และ 3.การเสวนาวิชาการระดับโลก จะมีคำพูดในบ่อยๆ ว่า มาตรการอะไรก็ตามที่ได้ผล คนจะไม่ค่อยชอบ มาตรการที่คนชอบมักไม่ค่อยได้ผล อย่างดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่ค่อยได้ผล แต่มาตรการอย่างภาษี จำกัดการโฆษณา การขาย คนไม่ค่อยชอบ แต่ได้ผล จึงต้องยอมรับว่ามาตรการควบคุมที่ได้ผลมีส่วนในการจำกัดเสรีภาพอยู่ด้วย แต่มาตรการไม่ได้มุ่งเพื่อจำกัดเสรีภาพ แต่เป้าหมายเพื่อส่งเสริมประชาชนภาพรวมมีความเป็นอยู่ที่ดี 

 

ล่าสุดเสนอ ร่าง กม.ปรับปรุงคุมน้ำเมา 3 ฉบับ

ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ภปค.)  กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีการเสนอกฎหมายปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 ร่าง ได้แก่ ร่างประชาชนชาวสุรา ร่างพรรคก้าวไกล และร่างภปค. ซึ่งบทสรุปที่ประชุมมีมติอนุญาตให้ครม.รับ 3 ร่างไปพิจารณา เพื่อที่จะประกอบการพิจารณาเป็นฉบับร่างกฎหมายของรัฐบาล  ส่วนร่างของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ยังไม่เข้ามา

 

นายธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า 3 ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามามีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่จะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง  ประกอบด้วย 1.กลไกคณะกรรมการ   ร่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีก 1 หมื่นกว่ารายชื่อ ที่มักเรียกตัวเองว่าประชาชนชาวสุราที่เป็นกลุ่มสุราไทย กลุ่มสมาคมคราฟต์เบียร์และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย   ให้เพิ่มผู้แทนธุรกิจเป็นที่ปรึกษา ลดอำนาจ ตัดผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่างพรรคก้าวไกล ตัดคณะกรรมการทุกระดับทั้งที่กฎหมายอื่นที่พรรคเสนอ กลับให้มีคณะกรรมการถึงระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการนี้ให้ยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมด ร่างภปค.ให้ปรับองค์ประกอบ เพิ่มอำนาจคณะกรรมการให้มีการจัดสมัชชาระดับพื้นที่  

 

2.การควบคุมสถานที่ วันเวลา และรูปแบบการดื่ม การขาย ร่างประชาชนชาวสุรา ให้ขายในร้านค้า หรือสโมสรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้ และส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถมได้ ณ จุดขาย  ยกเลิกการกำหนดเวลาขยาย เท่ากับขายได้  24 ชั่วโมง ยกเลิกการออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย และวิธีการ  ร่างพรรคก้าวไกล ยกเลิกมาตรา 28 เรื่องวัน เวลา ห้ามขาย แปลว่าให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ยกเลิกกรณีห้ามขายวันพระ ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่ยืนยันตัวผู้ซื้อได้ ให้ลดราคาได้ เพิ่มให้ดื่มได้ในโรงแรม ที่อยู่ในสถานศึกษา และให้ดื่มในสวนสาธารณะได้   ร่างภปค.เพิ่มการตรวจอายุของผู้ซื้อ กำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ห้ามขายผ่าน..คข.คอมพิวเตอร์ เพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา ร้านค้าที่ทำผิดกฎหมาย เพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแกผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ ให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค และเปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นโทษทางปกครอง 

 

และ3.การโฆษณา ร่างประชาชนชาวสุรา ห้ามมิให้ผู้โดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ แปลว่าให้โฆษณาได้เสรี  ร่างพรรคก้าวไกล ห้ามมิให้ผู้ประกอบการผลิตหรือจำหน่ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และร่างภปค. โฆษณาได้ภายใต้เงื่อนไขให้ระบบการขออนุญาตก่อนการโฆษณา ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ควบคุมตราเสมือน ให้ทุนสนับสนุนได้บางกรณี แต่ห้ามโฆษณา และแยกโทษคนทั่วไป ผู้ผลิต สื่อ 

 

“กฎหมายผ่านมาแล้ว 16 ปี มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่ปฏิเสธว่ากฎหมายต้องปรับปรุง แก้ไข แต่ว่าการแก้ไขกฎหมายใดๆโดยเฉพาะการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อประชาชน จะต้องแก้ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น”นายธีรภัทร์กล่าว