ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานข่าวการประชุม 5 เครือข่ายแพทย์ ค้านตั้ง Provider Board กรรมการสัดส่วนผู้ให้บริการ รวมภาคประชาชน เหตุควรแยกให้ชัด เพราะการบริการมีความเฉพาะด้าน และต้องคำนวณต้นทุนการบริการที่เหมาะสมเป็นธรรมทั้งรพ.และประชาชน  ล่าสุด 21 ก.พ. คณะอนุกรรมการฯสปสช. อาจดันร่างตั้งกรรมการผู้ให้บริการเข้าที่ประชุมบอร์ดสปสช.

 

ตามที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้ประชุมร่วม 5 เครือข่ายแพทย์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2567ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมโรงพยาบาล/สถาบัน กรมการแพทย์สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (UHosNet) ซึ่งมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะส่วนของผู้ให้บริการ และสปสช. ผู้จัดสรรงบประมาณ เพื่อหาข้อยุติประเด็นการเงินการคลัง เบื้องต้นมอบ สปสช.ร่างตั้งคณะกรรมการผู้ให้บริการ หรือ Provider Board  และหาทางออกประเด็นต่างๆร่วมกันนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” สั่งสปสช.ร่าง  Provider Board สัดส่วนผู้ให้บริการ แต่อยู่ใต้พรบ.หลักประกันสุขภาพ)

แหล่งข่าวในการประชุมร่วมที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลกับ Hfocus ว่า ในการประชุมวันนั้นไม่ค่อยสบายใจกับการให้ สปสช. เป็นผู้ร่างโครงสร้างคณะกรรมการผู้ให้บริการ หรือ  Provider Board  เนื่องจากยังต้องผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ของสปสช. ยังอยู่ภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็กังวลว่า บทบาทจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีตัวแทนผู้ให้บริการก็จริง แต่แทบไม่มีปากเสียง และเมื่อสปสช.จะออกสิทธิประโยชน์อะไร เข้าสู่บอร์ดใหญ่ ก็มักจะผ่านโดยไม่คำนึงหรือสอบถามทางผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง แต่คงต้องรอดูว่า โครงสร้างจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อผลการหารือเป็นเช่นนั้นก็ต้องติดตามก่อนว่า จะออกมาเป็นรูปแบบใด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด

“ที่สำคัญเรื่องของการจ่ายเงินของสปสช. โดยเฉพาะค่าบริการผู้ป่วยในในส่วนรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า สรุปใครเป็นหนี้ใคร เพราะหากยังระบุว่า รพ.เป็นหนี้สปสช. ทั้งๆที่รพ.ให้บริการ ดูแลรักษาผู้ป่วยจริงๆ แบบนี้ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ สปสช.กลับดึงเงินจากรพ.ไป โดยระบุว่า เป็นหนี้  ที่ชัดเจนคือ รพ.อุดรธานีถูกหักเงินมากที่สุด 69 ล้านบาท เพราะให้บริการประชาชนเยอะ แบบนี้เป็นธรรมหรือไม่ รพ.ล้วนอยากให้บริการทั้งนั้น แต่สปสช.กลับหักเงินแบบนี้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ขณะที่รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ก็รับผลกระทบ ที่ผ่านมากลุ่มนี้ช่วยประชาชนมาก ให้บริการค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์ต่างๆ มากกว่าที่สปสช.จ่าย จากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เกิดมานานแล้ว แต่ไม่เคยออกมาพูดกัน ตอนนี้เมื่อออกมาพูดก็ต้องรอดูว่า สปสช.จะทำอย่างไร จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ซึ่งหลักๆ อยากให้ชัดเจนก่อนว่า ใครเป็นหนี้กันแน่

แหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า ตอนนี้คงทำได้แค่รอ เพราะได้ยินว่า อาจมีการเสนอเรื่อง Provider Board  ในวันประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งหน้า น่าจะวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ก็ต้องติดตามว่าจะออกมารูปแบบใด ซึ่งล่าสุดให้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นว่า ควรมีของผู้บริโภคบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบอร์ด แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ กรณีที่เลขาฯสปสช.บอกว่า ใน Provider Board  อาจต้องมีภาคประชาชน เนื่องจากถือเป็นผู้ให้บริการตามมาตรา 3 นั้น จริงๆควรแยกให้ชัดมากกว่า

“สิ่งที่อยากให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด คือ เรื่องหนี้คงค้าง ที่ผ่านมา สปสช.ขึ้นในบัญชีว่า รพ.ต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนอกสังกัด อย่างโรงเรียนแพทย์ ว่า เป็นหนี้ของสปสช. เป็นหนี้ทางบัญชี แต่ระบบสปสช.คือ หักเงินไปเลย กลายเป็นว่าตอนนี้รพ.ต้องคอยติดตามว่า สปสช.จะหักเมื่อไหร่อย่างไร ถึงแม้รมว.สธ.จะบอกให้ชะลอก่อน ให้มาคิดวิธีคำนวณต่างๆ และให้ได้ข้อสรุปว่าใครเป็นหนี้ แต่ทางรพ.ไม่ค่อยมั่นใจ ก็ต้องติดตามตลอด ดังนั้น เรื่องนี้ชัดเจนเร็วเมื่อไหร่ยิ่งดี เพราะมีผลต่อขวัญกำลังใจคนทำงานด้วย” แหล่งข่าวฯ กล่าว

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-เปิดเนื้อหาหนังสือ 5 เครือข่ายแพทย์ ปมปัญหาเรื้อรังจัดสรรเงิน ของสปสช.

-สภาผู้บริโภค ค้าน “ชลน่าน” ตั้ง Provider Board ไม่ควรมีแค่ผู้ให้บริการ ขัดเจตนารมณ์บัตรทอง

แฟ้มภาพ