ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดหนังสือเรียกร้อง 5 เครือข่ายแพทย์ ปมปัญหาเรื้อรังการบริหารเงิน สปสช. ไม่สอดคล้องการให้บริการของรพ. พร้อมข้อเสนอแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการรวมตัวกันเรียกร้องของ 5 เครือข่ายแพทย์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2567ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมโรงพยาบาล/สถาบัน กรมการแพทย์สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (UHosNet) ส่งหนังสือร้องถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรณีข้อเท็จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช.ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าว Hfocus  รายงานว่า จากการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้น ให้สปสช.ร่างรายละเอียดการตั้งคณะกรรมการส่วนผู้ให้บริการทั้งหมด เรียกว่า Provider Board คาดว่าจะร่างแล้วเสร็จเสนอผ่านคณะอนุกรรมกายุทธศาสตร์ฯ ของสปสช. เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดสปสช. คาดว่าเร็วสุดอาจเป็นวันที่ 21 ก.พ.นี้ หรืออย่างช้าไม่เกิน 1 เดือน โดย นพ.ชลน่าน มองว่าการตั้งภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ จะมีกฎหมายรองรับ แต่หากจะนอกเหนือจากนั้นก็อาจผ่าน “ซูเปอร์บอร์ด” หรือคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกฯ เป็นประธาน  ส่วนปัญหาทางการเงินที่ยังค้าง ให้ไปหาวิธีคิดคำนวณว่า สรุปแล้วใครติดหนี้ระหว่าง รพ.หรือสปสช. หรือมีแนวทางวิธีการอย่างไรให้ได้ข้อสรุปอย่างเหมาะสม รวมถึงกรณีคลินิกชุมชนอบอุ่น

สรุปคือ ทั้งหมดมอบให้ทาง สปสช. เป็นโต้โผหลักในการจัดการเรื่องนี้ ขณะที่จากการพูดคุยกับผู้แทน 5 เครือข่ายแพทย์ ยังไม่ค่อยมั่นใจ สปสช.นัก แต่ขอดูทิศทาง โครงสร้าง Provider Board บทบาทหน้าที่ว่าจะแตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน  อย่างไร

หนังสือข้อเท็จจริงและข้อเสนอจาก 5 เครือข่ายแพทย์

สำหรับรายละเอียดหนังสือจาก 5 เครือข่ายแพทย์ (อัปเดตล่าสุด) ได้สรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช. ดังนี้

1.ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกทม. สปสช.เขต13 และ อปสข เขต13 มีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาดจากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564  ซึ่งเป็นรูปแบบที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการเดิมของระบบปฐมภูมิ ที่ส่งเสริมให้หน่อยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ/คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากสปสช. ให้ไปบริหารสถานพยาบาลดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบมาตลอด ตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นต้นมา มีการปรับใช้รูปแบบโมเดล 1-4 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยที่ยังคงหลักการเดิม

แต่รูปแบบโมเดล 5 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมมาก เปลี่ยนการจ่ายจากเหมาจ่ายรายหัว เป็นการจ่ายตามงานบริการในระบบ Fee Schedule ที่จำกัดจำนวน ลดศักยภาพการบริการของหน่วยบริการจากการจำกัดรายการใน Fee Schedule ทำให้หน่วยบริการจำเป็นต้องส่งต่อรพ.ในโรคที่สามารถดูแลได้ อีกทั้ง กระทบต่อการส่งกลับหน่วยบริการของประชาชนไปใช้บริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ไม่จำกัด ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลย์ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิกับรพ.รับส่งต่อหายไป ส่งผลกระทบด้านการเงิน ทำให้ค่าใช้จ่ายมีมูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท

ยกตัวอย่าง  สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียงร้อยละ 57 ของค่าบริการจริง ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 ปรากฎว่ามีการจ่ายค่าบริการในไตรมาสแรกเกินกว่า ร้อยละ 50 ของงบประมาณ มีแนวโน้ม จะมีปัญหาเช่นเดียวกับปี 2566

จึงเรียกร้องให้หยุดใช้ โมเดล 5 ในกทม.โดยเร็ว และกลับไปใช้โมเดล 2 และแนะนำให้จัดสรรงบประมาณค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับการบริการใน 3 ไตรมาส ที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราปกติ และไม่ควรขยายบริการโมเดล 5 ออกไปนอก กทม.

2.ระบบบริการสุขภาพในภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดยสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขเกือบร้อยละ 100 นั้น ปรากฎปัญหาต่อเนื่อง ทั้งค่าเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช. จ่ายให้ต่ำกว่าทุนอย่างมาก  โดยในปี 2561 มีการศึกษาต้นทุนในหน่วยบริการรพศ.รพท. ของกระทรวงสาธารณสุข พบต้นทุนบริการผู้ป่วยในเท่ากับ 13,142 บาทต่อ 1 AdjRW ในขณะที่สปสช.ยังคงจ่ายในอัตรา 8,350 บาทต่อ 1 AdjRW หรือเพียงร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอดเวลา 5 ปี ไม่มีการปรับเพิ่มแต่อย่างใด

และในปี 2566 สปสช. คาดว่าบริการผู้ป่วยในต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะสถานการณ์โควิด ผู้ป่วยถูกเลื่อนบริการ ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายยอดบริการผู้ป่วยจึงปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้สปสช.ไม่เคยประสานกับหน่วยบริการในการประเมินฉากทัศน์ และใช้วิธีแก้ปัญหาเดิม ๆ ดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในกลับจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 710 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเพียง 7,678 บาทต่อ 1AdjRW หรือ คิดเป็น ร้อยละ 58 ของต้นทุน  

“ 5 เครือข่ายแพทย์จึงมีข้อเสนอแนะ สรุป สปสช.ต้องลงบัญชีเป็นลูกหนี้ของ รพ.จากเงินที่เคยเรียกคืน ไม่ใช่ลงบัญชีว่า รพ.เป็นลูกหนี้ของสปสช.ดังเช่นปัจจุบัน  สปสช.ต้องลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินความจำเป็น รวมทั้งลดขั้นตอนเหลือเท่าที่จำเป็ฯ เพื่อลดภาระของหน่วยบริการ และลดการส่งชุดข้อมูลหลายระบบ โดยรพ.ทุกแห่งจัดส่งข้อมูลผ่านกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น  ที่สำคัญสปสช.ต้องกำหนดรายการและอัตราจ่ายตามระบบ Fee Schedule ให้เหมาะสม ปัจจุบันมีรายการที่ไม่ครบ ต้องกำหนดวิธีการเบิกจ่ายให้เหมาะสม ไม่ใช่ปฏิเสธการเบิกจ่ายทั้งรายการที่เรียกว่า ติด C”

 

3.สนับสนุนและขอให้เร่งรัดจัดตั้งเครือข่ายสถานพยาบาลฯ หรือ  Provider Board ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกองทุนและหน่วยบริการ ใช้ข้อมูลบริการจริงในการคำนวณวงเงินงบประมาณ บนหลักความสมเหตุสมผลทางการแพทย์ ร่วมไปกับความสมเหตุสมผลทางการเงิน ไม่ถ่ายโอนความเสี่ยงการเงินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่มีธรรมาภิบาล หรือไม่ผ่านการตกลงร่วมกัน

ข้อเรียกร้องจาก ชมรมรพศ./รพท. กรณีถูกดึงเงินกลับ

นอกจากนี้ ในส่วนของชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ยังทำหนังสือแยกเฉพาะเพื่อเสนอต่อ นพ.ชลน่าน อีกเช่นกัน โดยเนื้อหาภาพรวมไม่แตกต่างจากหนังสือรวม 5 เครือข่ายแพทย์ แต่จะมีเพิ่มรายละเอียดของปัญหา ดังนี้

-สปสช.คาดการณ์ของบประมาณ 2566 ผิดพลาด เพราะคาดการให้บริการผู้ป่วยในปี 2566 ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทำให้วงเงินงบประมาณผู้ป่วยในไม่เพียงพอ สปสช.จึงใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในที่จ่ายแกรพ.ในอัตราที่ตกลงไว้แต่แรก คือ อัตรา 8,350 บาทต่อ 1 AdjRW ดึงเงินกลับจากรพ.710 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท โดยปรับอัตราจ่ายที่ลดต่ำลงเป็น 7,678 บาทต่อ 1 AdjRW  โดยรพ.ที่ถูกหักมากที่สุดคือ รพ.อุดรธานี จำนวน 69 ล้านบาท สะท้อนว่า รพ.ยิ่งให้บริการมากจะถูกหักมากขึ้น

-ค่าบริการผู้ป่วยในส่วนที่เหลือ สปสช.ควรรับผิดชอบ โดยทำเรื่องเสนอขอจากงบกลาง เนื่องจาก สปสช.ประมาณการคลาดเคลื่อน

สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นขอให้เร่งเยียวยาด่วน

ส่วนสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ทำหนังสือถึง นพ.ชลน่าน เช่นกัน

โดยหลักคือ ให้เร่งหางบประมาณมาช่วยสนับสนุนการให้บริการผู้ป่วยของคลินิกบัตรทอง และมาตรการเยียวยาเร่งด่วนที่สุดให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้รับการชดเชยครบถ้วน ตามที่ได้ให้บริการไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 และขอให้เพิ่มงบประมาณ 2567 ให้เพียงพอตามความเป็นจริง

อ่านรายละเอียดหนังสือทั้งหมดในไฟล์แนบด้านล่าง