ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติบอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ไม่ขยายเวลาขายเหล้า แต่ให้มีคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ หาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ  ไม่มีกรอบเวลาชัดต้องดำเนินการถึงเมื่อไหร่

 

ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วม ซึ่งก่อนการประชุมนายสมศักดิ์ลงมาพบกับภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มายื่นหนังสือให้กำลังใจในการพิจารณาตามข้อเสนอของคณะคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรณีไม่มีการปรับแก้ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนายสมศักดิ์ ยืนยันว่า วันนี้มติบอร์ดใหญ่ก็จะไม่มีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกันนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  “รองนายกฯสมศักดิ์” เอาใจเครือข่ายต้านเหล้าฯ ยันที่ประชุมบอร์ดนโยบายฯ ไม่ขยายเวลาขายแน่นอน)

ตั้งคกก.ศึกษาเพิ่มเติมควรขยายเวลาขายเหล้าหรือไม่

ต่อมาเวลา 15.30 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายสมศักดิ์ มอบให้ นพ.ชลน่าน แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ แทน  โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติวันนี้ มีมติเกี่ยวกับเรื่องการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ประชุมพิจารณาอย่างรอบคอบมีมติว่า จะให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบรอบด้าน โดยตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนเรื่องของการกำหนดหรือขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป

สำหรับเหตุผลที่ต้องศึกษา เนื่องจาก

1.ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของร้านอาหารทั่วไปหลายฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 253 พ.ศ. 2515  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่งมีการออกกฎกระทรวงและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกมารองรับในการกำหนดเวลาอยู่ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาต้องไปดูบทกฎหมายเหล่านี้ เพราะบังคับเอาไว้ แม้จะออกมติอย่างไร ก็ต้องไปปรับเปลี่ยนแก้ไขต้องไปศึกษาดูความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกัน

2.ศึกษาเรื่องมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ ขณะนี้กรรมการให้ความเห็นว่า ยังไม่มีข้อมูลทางสถิติหรือเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพเป็นอย่างไร มีข้อมูลข้อเท็จจริงบ้าง แต่ยังถือเป็นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์และตัดสินยังไม่ได้ เช่น ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจที่ตัวแทนจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานำมาเสนอ ภาพรวมรายได้จากการท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มมีการใช้เวลานี้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท แต่ว่ามีรายได้ที่เป็นที่จากอาหารและเครื่องดื่มแค่ 2 แสนล้านบาท หรือ 1 ใน 6 ของรายได้จริงเท่านั้น แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าอย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องไปศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น

"ผลกระทบด้านสุขภาพ จริงอยู่เราเก็บสถิติใน 5 พื้นที่ที่กำหนดหลังประกาศใช้การขยายเวลาของสถานบริการไปถึงตี 4 คือ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย พบว่ามีสถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นทางตรงทางอ้อมต้องศึกษาลึกลงไปอีก ตรงนี้จะนำเข้าเพื่อให้มีการศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้าน เพื่อนำมาตัดสินว่าจะขยายหรือไม่ขยาย มติกรรมการชัดเจนว่า ถ้ายังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งตัวกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ข้อมูลผลกระทบเศรษบกิจ สังคม สุขภาพที่ต้องมาดูรอบคอบรอบด้าน เราเป็นกรรมการที่ดูแลมิติด้านสุขภาพ ก็ต้องพยายามดูข้อมูลทุกอย่างว่ามาหักล้างมิติสุขภาพหรือไม่อย่างไร จึงเป็นมติที่ออกมา" นพ.ชลน่านกล่าว

ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาของคณะกรรมการฯ

ถามว่ามีกรอบระยะเวลาที่ให้คณะกรรมการไปศึกษาหรือไม่ แล้วกรรมการชุดใดที่จะศึกษา นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราไม่ได้กำหนดกรอบเวลา แต่เชิงปฏิบัติอยู่ในความสนใจก็เร่งรัดให้มีการศึกษาในกรอบเวลาที่รีบด่วนรวดเร็ว แต่ไม่ได้เร่งรัดจนข้อมูลไม่เพียงพอ

ถามว่าประมาณ 1-3 เดือนหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า 3 เดือนก็เป็นตัวเลขที่พูดกันไว้แต่ไม่ได้เป็นมติ ส่วนกรรมการที่จะตั้งนั้นใช้เลขาฯคณะกรรมการเป็นหลัก ส่วนจะเสนอบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ เรื่องสิ่งที่ต้องดูเชิงลึกในผลประกอบการต่างๆ ก็เชิญเข้ามาเป็นคณะกรรมการ แต่ใช้ตัวโครงสร้างสำนักงานเลขาฯ เป็นหลัก

“ชลน่าน” ตอบลำบากว่า ปิดประตูขยายเวลาห้ามจำหน่ายหรือไม่

ถามว่าที่ประชุมยังไม่ได้ปิดประตูที่จะขยายเวลาจำหน่ายใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า อันนี้ตอบลำบาก ตอบตามข้อเท็จจริงที่แถลงไป ปิดประตูหรือไม่ปิดประตูอยู่ที่เหตุผลที่เราต้องมาพิจารณาหลังจากที่มีผลการศึกษาแล้ว

ถามว่าผลกระทบสุขภาพเกี่ยวกับแอลกอฮอล์มีการตีเป็นตัวเลขได้หรือไม่ว่าคุ้มกับรายได้อย่างไร  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถึงต้องมีมติว่าต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เราอาจเจอแค่สถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การเพิ่มขึ้นของคนรับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นโรคต่างๆ ต้องไปดูรายละเอียด

ถามย้ำว่าโอกาสหน้าจะเห็นมีการพิจารณาวาระการขยายเวลาจำหน่ายอีกครั้ง  นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลังได้รับผลการพิจารณาการศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้านก็เข้าสู่กระบวนการ จะได้ตัดสินได้ว่ามันคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ในการขยายเวลาจำหน่ายในร้านอาหาร

ถามว่าจะมีการออกมาตรการมารองรับมากกว่านี้หรือไม่ หากจะมีการขยายเวลาจำหน่าย  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระการประชุม แต่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะรับไปพิจารณา กำหนดมาตรการหลักเกณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ ต่อไปได้

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

- “หมอคำนวณ” เปิดสถิติคนตายจากเมาแล้วขับ พุ่ง 80% เหตุ “เปิดผับถึงตี 4”