ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายต้านเหล้าฯ รวมตัว สธ. ติดตามผลประชุมบอร์ดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากขยายเวลาขายสุรา กระทบบุคลากรทางการแพทย์ ย้อนแย้ง 30 บาทรักษาทุกที่ พร้อมตัดพ้อ“ชลน่าน” ไม่รับหนังสือด้วยตนเอง ขณะที่รมว.สธ. ลั่นต้องรีบไปตอบกระทู้สดที่รัฐสภา   ยังเชื่อมั่นสธ. แต่ไม่มั่นใจนายกฯ เศรษฐา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข  ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายแท็กซี่ สามล้อ ไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ องค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประชาชนกว่า 400 คน เดินทางมาติดตามและให้กำลังใจ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และยื่นให้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยได้ยื่นเรื่องก่อนการประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือ การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และข้อเสนอของกลุ่มทุน

"ชลน่าน" ติดภารกิจรีบออกจากสธ. ไปตอบกระทู้สดรัฐสภา

ทั้งนี้  นพ.ชลน่าน ติดภารกิจต้องร่วมประชุมคณะกรรมการฯ ในเวลา 09.30 น. จึงไม่สามารถมารับหนังสือได้ด้วยตนเอง  โดยในเวลาประมาณ 10.20 น. นพ.ชลน่าน  เดินทางออกจากห้องประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหลีกเลี่ยงการออกทางด้านหน้าอาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากภาคประชาชนยังปักหลักรอฟังผลการประชุมอยู่ใต้ถุนอาคาร ประกอบกับต้องรีบเดินทางเพื่อไปตอบกระทู้ที่รัฐสภา แต่ผู้สื่อข่าวได้เดินตามและสอบถามว่า จะรับหนังสือและพบกับประชาชนหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบกลับว่า “มีเวลาให้พบแน่นอน” เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เครือข่ายฯ น้อยใจเนื่องจากท่านอยู่ในห้องประชุม แต่กลับไม่ยอมลงมาพบเพื่อพูดคุย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “จะรีบไปตอบกระทู้ก่อน เพราะว่าเป็นกระทู้สด” โดยได้มอบ   รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  และนพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค มารับหนังสือแทน

หากขยายเวลาขายเหล้าจะย้อนแย้งกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.) กล่าวว่า วันนี้ภาคประชาชนรวมตัวกันมาที่กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทราบว่ามีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีการพิจารณาในวาระที่ 4 เรื่องการขอขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ชุดนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นับเป็นการรีบเร่งพิจารณา ที่เกิดข้อกังขาตามมามากมาย  

นายชูวิทย์ กล่าวว่า  ภาคีเครือข่ายฯ ต้องการมาให้กำลังใจ สธ.ในการต่อต้านสิ่งที่ย้อนแย้งกับนโยบาย 30 บาทและบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยการยืนหยัดคุ้มครองสุขภาพประชาชน ที่ผ่านมาข้อมูลปรากฎชัดจากขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดเพียงเหตุผลเดียวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนเพียงมกราคมเดือนเดียวในปี 2567 เทียบเดือนเดียวกันในปี 2566  พบข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยกทม.เพิ่มถึง 46.6% ภูเก็ตเพิ่ม 35.7% เชียงใหม่เพิ่ม 22.5% ส่วนชลบุรี และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี   เพิ่มกว่า 10% สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง แต่เร่งดำเนินการถือเป็นการเหยียบอยู่บนซากศพ ความตายของประชาชน   นโยบายดิจิทัลวอลเลตไม่ทำให้คนตาย แต่การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้คนตาย การตัดสินใจนโยบายอยากให้ศึกษาข้อมูลรอบด้านไม่ใช่คิดจากความมักง่าย หากยังดึงดันอาจจะถึงเวลาที่พวกเราต้องไล่นายกฯ  

ขยายเวลาขายเหล้ากระทบบุคลากรทางการแพทย์  

“ปัญหาผลกระทบจากเหล้า บุคลากรทางการแพทย์ คุณหมอจะใส่เสื้อกาวน์ที่เปื้อนเลือดแบบนี้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องหลับต้องนอน คุณรับไหวหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขรับไหวหรือไม่ นายกฯเศรษฐาถุงเท้าแดงรับไหวหรือไม่  ต้องเอาหัวใจคิด เอาความเป็นมนุษย์มาคิด ดังนั้น  การขยายเวลาขายเหล้าเท่ากับเพิ่มภาระทางการแพทย์ และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะไม่เป็นประโยชน์เลย ย้อนแย้ง ทำไปทำไม ผมไม่ได้ด่ากระทรวงฯ เราตั้งใจให้กำลังใจ เราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ที่นี่ แต่เราจำเป็นต้องพูด เราไม่เชื่อว่าถ้าไปพูดที่ทำเนียบ นายกฯ เศรษฐาจะฟังพวกเรา นายกฯแบบนี้เราไม่เอา” นายชูวิทย์ กล่าว

คนบาดเจ็บล้มตายจากเหล้าปีละ 5.3 หมื่นคน

ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดขายเหล้าเบียร์มากกว่า 580,000 จุด และที่แอบขยายอีกมหาศาล โดยขายได้ 2 ช่วงเวลาหรือ 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ส่งผลให้คนบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุที่มีสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 53,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 145 คน หรือ 6 คนต่อชั่วโมง ดังนั้น หากขยายเวลาเพิ่มผลกระทบก็จะยิ่งเท่าตัว  มีการประมาณการมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1.6 แสนล้านบาท จึงเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย   

อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายขอยื่นข้อเสนอดังนี้ 1.ให้สธ.ยึดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก 2.คัดค้านแนวคิดนายกฯ ที่พยายามขยายเวลาจำหน่ายสุราเพื่อเอาใจนายทุน และฝากไปถึงนายกฯ ให้รับฟังข้อมูลรอบคอบและรอบด้าน อย่าซ้ำเติมให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกัญชา และ 3.ให้มีการศึกษาข้อมูลรอบด้านถึงผลดี-ผลดีก่อนขยายเวลา

 

อัปเดตมติบอร์ดเหล้า : อ่านรายละเอียด

ภาคปชช.ยินดีมติบอร์ดเหล้าฯ ไม่มีแก้ไขเวลาขาย รอบอร์ดใหญ่พิจารณา 19 ก.พ.