ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันสิรินธร ชู Smart Technology rehabilitation center งานฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย  ใช้เทคโนโลยีช่วยคุณภาพชีวิตผู้พิการ

 

ปัจจุบันประชากรผู้พิการไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบาย มุ่งเน้นการดูแลประชากรผู้พิการไทยทั้ง 7 ด้าน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขไทยตามความสำคัญดังกล่าว หน่วยงานกายภาพบำบัด งาน Smart technology rehabilitation center ซึ่งอยู่ภายในสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข   จึงได้แสวงหาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองการแก้ไขด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้พิการโดยนําเทคโนโลยีมาปฏิรูปคุณภาพชีวิตผู้พิการ ช่วยให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวสูงสุด นําไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกทั้งยังช่วยลดภาระทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคมอีกด้วย

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า  งาน Smart Rehab เป็นจุดบริการเบ็ดเสร็จในการให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่การคัดกรอง การประเมินก่อนและหลัง การให้การรักษา การดูแลหลังการรักษาและเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองที่ฝึกจนกระทั่งสามารถออกสู่สังคมได้ตามระดับความสามารถสูงสุดของแต่ละคน โดยที่งานบริการ Smart Rehab เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ความสามารถของผู้ป่วยและเห็นความก้าวหน้าในการรักษา นอกจากในเรื่องการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นจุดบริการในการรับดูงานและการถ่ายทอดความรู้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการรักษา รวมถึงการศึกษาค้นคว้าและทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาหน้างานให้ทันสมัยและอัพเดตอยู่เสมอ

พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ    กล่าวว่า  Smart technology rehabilitation center ประกอบด้วยงานบริการหุ่นยนต์ฝึกเดิน และงานเทคโนโลยีฟื้นฟูการเคลื่อนไหว เป็นหน่วยงานที่ให้บริการผู้ป่วยทางระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาการเดิน และการทรงตัว มีเครื่องมือที่เปิดให้บริการทั้งสิ้นจำนวน 10 เครื่อง แบ่งเป็นห้องหุ่นยนต์ฝึกเดินจำนวน 3 เครื่อง คือ

1.เครื่องหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic gait training)

2.โครงพยุงฝึกเดินด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Andago)

3.เครื่องหุ่นยนต์กึ่งเดินโดยมีเครื่องช่วยพยุงน้ำหนัก (I-Walk )

โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการทั้งหมด  2 คน  เปิดให้บริการในเวลาราชการ วันจันทร์-วันศุกร์ 7 รอบ รอบเช้า 4 รอบ ตั้งแต่เวลา  8:30 – 12.00 น. และรอบบ่าย 3 รอบ 13.00-16.00 น. นอกเวลาราชการ 16.00-19.00 น. นอกเวลาราชการเสาร์ – อาทิตย์ 3 รอบตั้งแต่เวลา 8:30 – 12.00 น. ตัวชี้วัดการดำเนินงาน ประเมินตามปัญหาของผู้ป่วยโดยใช้แบบประเมินวัดผลลัพธ์ทางคลินิก เช่น Gait analysis, Weight bearing, Standing balance และ 6MWT ห้องเทคโนโลยีฟื้นฟูการเคลื่อนไหวมีเครื่องมือทั้งหมด 7 เครื่อง ประกอบไปด้วย

1.เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวขาบนเตียงปรับยืน (Cyclic leg movement on tilt table)

2.เครื่องฝึกการทรงตัวบนลู่เดิน (Perturbation Treadmill)

3.เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Functional feedback training) จำนวน 2 เครื่อง

4.เครื่องฝึกการทรงตัว (Smart Standing balance)

5.เครื่องจักรยานเสมือนจริง (Virtual Bicycle) จำนวน 2 เครื่อง มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการทั้งหมด 2 คนเปิดให้บริการในเวลาราชการ วันจันทร์-วันศุกร์ 5 รอบ รอบเช้า 3 รอบ และรอบบ่าย 2 รอบ ตั้งแต่เวลา 8:30-16.00 น. ตัวชี้วัดการดำเนินงาน ใช้คะแนนการประเมินการทรงตัว (Berg Balance scale) เป็นตัวชี้วัดหลักในการประเมินระดับความสามารถของผู้ป่วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง