ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มุมมอง 4 สภาวิชาชีพ กับการขับเคลื่อน “ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ” เฟสสอง มี.ค.67  พร้อมผลักดันยกเลิกมัดจำโครงการสปสช. ดึงร้านยา คลินิก เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเบิกจ่ายแม้ไม่มาก แต่ถัวเฉลี่ยได้ และได้ร่วมภาครัฐลดความแออัด ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการ

ใกล้เข้าสู่เฟสสองของโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ เริ่มเดือนมีนาคม 2567 ใน 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี นครราชสีมา สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และพังงา หลังจากเฟสแรก 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงความสำเร็จเฟสแรก และพร้อมก้าวเข้าสู่เฟสสอง

ล่าสุดในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ 1 ใน 8 จังหวัดที่จะเข้าสู่เฟสสอง ได้เตรียมพร้อม เดินหน้าเต็มที่ โดยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เพชรบูรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหลากหลายวิชาชีพ รวมทั้งร้านยา คลินิกต่างๆ เข้าร่วมประชุมรับฟังแนวทางเข้าร่วมเฟสสองของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ส่องความพร้อม “เพชรบูรณ์” 1 ใน 8 จังหวัดเฟสสอง ‘30 บาทรักษาทุกที่’)

งานนี้ Hfocus มีโอกาสได้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของสภาวิชาชีพต่างๆ ที่จะเชิญชวนสมาชิก ทั้งร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกทันตกรรม ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง

สภาเภสัชกรรม

สภาเภสัชกรรม เป็นอีกหนึ่งสภาวิชาชีพที่มีบทบาทในการเชิญชวนร้านยาเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยเฉพาะการพัฒนาร้านยาคุณภาพ

รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม กรรมการสภาเภสัชกรรม  เล่าว่า  ปัจจุบันร้านยามีประมาณ 17,000 ร้านทั่วประเทศ และมีประมาณ 2,200 กว่าร้านที่เป็นร้านยาคุณภาพ ซึ่งสามารถเข้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้ทันที โดยสภาเภสัชกรรม มีการเชิญชวนสมาชิกร้านยาที่ได้คุณภาพเข้าร่วมโครงการเรื่อยๆ รวมไปถึงร้านยาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าก็กำลังจะเชิญชวนเข้ามา ขณะนี้กำลังปรับตัวตามมาตรฐานเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ ที่สำคัญเราเน้นคุณภาพมากที่สุด ประชาชนเดินเข้ามาต้องเจอเภสัชกรตลอด

“ปัจจุบันร้านยากำลังทยอยขึ้นทะเบียน Provider ของ “หมอพร้อม” ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เราทราบประวัติคนไข้ อย่างคนไข้เป็นโรคเรื้อรังก็จะทราบว่า ใช้ยาอะไรอย่างไร แต่จริงๆ เภสัชกรจะมีการซักประวัติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ระบบการลงทะเบียนของหมอพร้อม ยังไม่รวมการเบิกเงินด้วย ยังแยกกับของ สปสช. ตรงนี้อาจต้องรอการพัฒนาให้ลิงค์ข้อมูลรวมกันหมด ที่สำคัญคนใช้งานก็ต้องไม่สับสนในเรื่องการแยกระบบด้วย” รศ.ภญ.สุณี กล่าว

รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม กรรมการสภาเภสัชกรรม  

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาได้มีการประสานสปสช.เพื่อขอยกเว้นเงินมัดจำสัญญา 10,000 บาทในการเข้าร่วมโครงการหรือไม่ รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมได้ประสานขอยกเว้นแล้ว ทำให้ร้านยาเข้าร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาและเดินเรื่องเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษี ยกตัวอย่างความเป็นบุคลากรสาธารณสุขจะเป็นค่าบริการ แต่หากเรื่องยา ก็จะมีค่าบริการบวกค่ายา ซึ่งเรื่องนี้ ทางสภาฯ กำลังพยายามแยกส่วนให้ชัดเจน  เหมือนอาชีพอิสระ หรือที่ต้องใช้ใบประกอบโรคศิลปะ หากเป็น 40(6) ได้ก็จะช่วยได้ชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าจะยิ่งทำให้ร้านยาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เหมือนกับกรณีการเว้นค่าประกันสัญญาของร้านยา เมื่อได้รับการยกเว้นก็จะช่วยให้ร้านยาเข้าร่วมโครงการมากขึ้นด้วย

หากในอนาคตโครงการ 30 บาทฯ จะเน้นเฉพาะให้แพทย์ตามคลินิกตรวจวินิจฉัยและให้มารับยาที่ร้านยาอย่างเดียว จะเพิ่มการเข้าถึงบริการมากขึ้น ทางร้านยาจะมีความพร้อมหรือไม่ รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ทำได้ เพราะเรามีระบบเดิมในเรื่องการทำออนไลน์อยู่แล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคมา มีใบสั่งยาเข้าระบบ ทางเภสัชกรร้านยาก็สามารถจัดยาตามแพทย์สั่งได้เช่นกัน

สภาการพยาบาล

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม “พยาบาล” จึงสามารถเปิดคลินิกและเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ.. 

รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล อธิบายว่า ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2540 ได้มีความพยายาบาลผลักดันให้เกิด “คลินิกพยาบาล”  ภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เป็นจุดเริ่มของการให้โอกาสพยาบาลเปิดคลินิก  โดยเฉพาะเมื่อพยาบาลเกษียณ ก็จะมีโอกาสทำงานต่อในลักษณะนี้ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เป็นสถานพยาบาลเอกชนในรูปแบบไม่มีผู้ป่วยค้างคืน แล้วใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล ก็ยังให้โอกาสเราเปิด รพ.การพยาบาล ซึ่งอันนี้จะเป็นสเต็ปต่อไป นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพฯ ซึ่งจะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ดังนั้น  คลินิกพยาบาล ที่เกิดขึ้นจึงสอดคล้องกับการทำงานโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นการบริการตามขอบเขตวิชาชีพ ทำให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

“ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 กว่าคลินิกแล้ว แต่พอเกิดนวัตกรรมของ สปสช. ด้านต่างๆ ทำให้ได้เข้าร่วมประมาณ 900  แห่งจากเป้าหมาย 5,000 แห่ง แต่จริงๆ ยังต้องการให้ถึง 10,000 แห่ง”   

อย่างไรก็ตาม คลินิกพยาบาลจะทำงานภายใต้ขอบเขตของวิชาชีพและกฎหมาย หลักๆ 4 ด้าน คือ 1.ต้องให้ความรู้สุขภาพ ให้คำปรึกษาสุขภาพตามความต้องการ 2.ให้บริการพยาบาลตามอาการของผู้ป่วย เช่น มีบาดแผลก็ทำแผลให้ ต้องอาศัยอาหารทางสายยาง ก็ดำเนินการให้ 3.บริการให้วัคซีน ให้ภูมิคุ้มกัน และ4.ปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ อย่างคลินิกพยาบาลถ้ามีแผนการรักษาของแพทย์มา เราก็สามารถที่จะดูแลต่อไป แต่เราไม่สามารถที่จะวินิจฉัยและออกแผนการรักษาได้ จ่ายยาเราก็เป็นจ่ายยาเบื้องต้น ตามข้อกำหนดของการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งเป็นขอบเขตของวิชาชีพพยาบาล ทั้งหมดมีกฎหมายรองรับ

เมื่อถามถึงอะไรยังเป็นอุปสรรค นายกสภาการพยาบาล บอกว่า  มีประเด็นเรื่องคีย์ข้อมูล ซึ่งอันนี้เป็นอุปสรรคเล็กน้อย แต่ก็จะติดว่า เราให้บริการด้วยแล้วก็ต้องมาคีย์ข้อมูลการบริการด้วย หากลดขั้นตอนตรงนี้ได้จะดีมาก ส่วนเรื่องเบิกจ่าย สัญญามัดจำโครงการ 10,000 บาทนั้น ขณะนี้สปสช.ได้ยกเว้น ซึ่งมีผลมาก ทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น

รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล

 

สภาเทคนิคการแพทย์

ทนพ. สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า สภาเทคนิคการแพทย์ ได้ให้ความรู้ พร้อมเชิญชวนคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนรู้จักคลินิกมากขึ้น และยังได้ช่วยภาครัฐ ช่วยรพ.รัฐลดความแออัดจากการรอคิวเจาะเลือด ตรวจเลือด  ซึ่งทางสภาฯ เป็นเหมือนผู้ประสานระหว่าง รพ. และคลินิก  เนื่องจากผลแล็กต้องมีความมั่นใจว่า ตรวจถูกต้องแม่นยำตามมาตรฐาน แรกว่าผลแล็ป ซึ่งสภาฯมีการรับรองตรงนี้ เมื่อมีมาตรฐานจะตรวจที่ไหนก็ได้ค่าเท่ากัน  

คลินิกเทคนิคการแพทย์ได้รับการยกเว้นค่ามัดจำสัญญาร่วมโครงการจาก สปสช.หรือไม่  ทนพ. สมชัย  กล่าวว่า  เดิมการเข้าร่วมโครงการจะมีเงินมัดจำสัญญา ดังนั้น สภาฯ จึงได้พยายามพูดคุยกับทาง สปสช. เรื่องนี้ เริ่มแรกลดราคาลง จากเป็นแสน เหลือ 10,000 บาท ต่อมายกเว้น  ซึ่งทำให้โครงการเดินหน้าขึ้น มีคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมเพิ่มขึ้น   

“การยกเว้นค่ามัดจำสัญญา ถือเป็นการช่วยลดภาระคลินิกได้มาก เพราะบางทีไม่รู้เลยว่าเราจะได้เงินกลับมาเท่าไหร่ ก็จะเสี่ยงเกินไป ดังนั้น เมื่อยกเว้นและทางสภาฯ มาช่วยรณรงค์ก็พบว่า เข้าร่วมกันมากขึ้น โดยขณะนี้มีประมาณ 100 คลินิกจากทั้งหมด 800 กว่าคลินิกทั่วประเทศ” นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าว

เมื่อถามว่า สปสช.จ่ายอัตราค่าบริการให้คลินิก ถือว่ายอมรับได้หรือไม่  ทนพ.สมชัย กล่าวว่า  ก็พอไปได้  โดยต้องคิดว่าบางครั้งถ้าคลินิกเทคนิคการแพทย์ประชาชนไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าเราเข้าร่วม อยู่ในระบบก็จะทำให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น และโอกาสที่สิทธิ์สุขภาพอื่นๆ จะเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย   เช่น พ่อแม่เป็นบัตรทอง ลูกไม่ใช่แต่พาพ่อแม่มา ทำให้รู้จักเรามากขึ้นก็ขยายฐานผู้ใช้บริการ  

“ปัจจุบันคลินิกที่เข้าร่วมก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น อย่างตอนนี้ประมาณ 100 แห่ง  ซึ่งถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างจ.เพชรบูรณ์ เดิมไม่มี ตอนนี้ก็มีคนสนใจมากขึ้น  เราก็จะชวนและพูดถึงข้อดีว่า ค่าชดเลยอาจจะไม่เยอะ แต่ทำให้ลูกค้ารู้จักเรา คนไข้รู้จักเรา อาศัยระยะยาวจะดีขึ้น” ทนพ.สมชัย กล่าว

ทนพ. สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์

ส่วนเรื่องมาตรฐานของคลินิกเทคนิคการแพทย์นั้น นายกสภาฯ บอกว่า จริงๆต้องผ่านการรับรองคุณภาพ แต่ตอนนี้ถ้าจะให้สนองนโยบายของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว การรอรับรองคุณภาพสำหรับคลินิกใหม่ๆ อาจใช้เวลาเป็นปี ทางสภาฯ จึงใช้ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานการให้บริการ แล้วเอามาตรฐานตัวนี้มาจับกับคลินิก ว่าคุณได้ทำตามข้อกำหนดประมาณนี้ได้หรือไม่ ติดขัดปัญหาอะไรก็จะเข้าไปช่วย  เช่น การเปรียบเทียบผลเพื่อความมั่นใจถ้าคลินิกยังไม่มีกิจกรรมนี้ เราก็จะคุยกับทาง รพ. ที่เป็นต้นทางของคนไข้ว่าถ้าไม่มั่นใจเรามาทดสอบมาตรฐานให้ได้ เป็นต้น คือ ช่วยปรับแก้จะได้ตามมาตรฐานที่กำหนด  

เมื่อถามว่าการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทนพ.สมชัย กล่าวว่า  จริงๆต้องมองว่าคลินิกจะได้ขยายฐานลูกค้า ถ้าในแง่ของประชาชน คือการมาคลินิกไม่ต้องยึดติดกับการไปเฉพาะ รพ.เท่านั้น  เพราะการไปรพ.เพื่อรอคิวตรวจต่างๆ ทำให้เสียเวลาในการรอคิว ต้องไปแต่เช้าตรู่ บางแห่งเอารองเท้ามาต่อรอคิวที่เคยเห็นตามข่าวก็มี  แต่โครงการนี้ สามารถไปรับบริการที่คลินิกใกล้บ้าน ไปตอนเย็นตอนที่สะดวกได้

“ปัจจุบันสิทธิ์ประกันสังคมก็เริ่มเรียกร้องว่า ต้องการเข้าร่วม มองว่าเขาก็จ่ายเงินให้กับระบบ แต่ทำไมไม่สามารถใช้สิทธิ์แบบนี้ ตรงนี้ก็ต้องไปดูว่าในอนาคต ประกันสังคมจะมาร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งหากจะพูดว่าภาระงานเพิ่ม เหนื่อยขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ไม่ได้เหนื่อยมาก แต่ได้ผู้รับบริการเพิ่ม”  นายกสภาเทคนิคการแพทย์กล่าว

ทันตแพทยสภา

ขณะที่ทันตแพทยสภา มีการเตรียมพร้อม โดยนำข้อมูลจากเฟสแรกมาปรับปรุงให้คลินิกทันตกรรมพร้อมมากขึ้น ..

ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา เล่าว่า  จากการเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสแรก ที่ทางสภาเข้าไปช่วยสนับสนุน สปสช ทำให้เห็นปัญหาของกระบวนการทำงานบางอย่าง เช่น ลำดับการให้บริการ ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ชัดเจน จึงต้องมาปรับกระบวนการบริการทันตกรรมอีกครั้ง เช่น การเคลือบฟลูออไรด์อาจจะใช้เวลาไม่นาน จึงกลายเป็นหัตถการงานหลักในการให้บริการผู้ป่วยในครั้งแรก ซึ่งเราอยากให้บริการหัตถการที่เร่งด่วนก่อน แต่เก็บการเคลือบฟลูออไรด์ไว้หลังหัตถการเร่งด่วน ตรงนี้ทันตแพทยสภา จะมาปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียว โดยการเรียงลำดับความสำคัญใหม่ในการบริการทันตกรรม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "เดนท์คลาวด์" ที่จะให้คลินิกคีย์ข้อมูลขึ้นเดนคลาวด์ทั้งหมด เพื่อเบิกจ่ายเงินจากแพลทฟอร์มนี้ ทั้งนี้ ระบบเดนท์คลาวด์จะทำให้มีข้อมูลการรักษาส่งถึงกัน ทั้ง รพ.และคลินิกทันตกรรม  ทันตแพทยสภาพยายามได้รับการสนับสนุนโดยการยกเว้นค่าใช้จ่ายเรื่องเดนท์คลาวด์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่คลินิกทันตกรรมจะได้รับอีกอย่างจากการเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ คือ เราจะมีการเปิดอบรมออนไลน์แบบออนดีมานด์ฟรีในเรื่องของการทำให้ปราศจากเชื้อหรือ Sterile และมีประกาศนียบัตรให้ผู้ช่วยที่ผ่านการทดสอบความรู้ออนไลน์ เพื่ออัพเดทความรู้อีกด้วย

สำหรับการเข้าร่วมเฟสแรกใน 4 จังหวัด ผศ.ทพ.สุชิตกล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกเอกชนเข้าร่วมประมาณ 35-40% ส่วนที่ยังไม่เข้ามาร่วม เข้าใจว่าคลินิกอาจมีผู้ป่วยแน่นอยู่แล้วหรืออาจข้อกังวลเรื่องการเบิกจ่ายในเรื่องทั้งวิธีการและจำนวน ซึ่งก็มีการปรับกันเรื่อยๆ อย่างในเรื่องอัตราเบิกจ่ายในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ ราคาก็เหมาะสมน่าจะพออยู่ได้ แต่ถ้าเข้าในเมืองใหญ่ก็อาจจะเหนื่อยหน่อยในราคาค่าตอบแทน แต่หากมองว่าได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยใหม่ ขยายฐานผู้ป่วยมากขึ้น ตรงนี้คลินิกทันตกรรมเอกชนน่าจะสนใจมากขึ้น

"เข้าใจว่าตอนนี้คลินิกยังกังวลเรื่องเบิกจ่าย เลยมาสมัครเข้าโครงการไม่มากเท่าที่ควร แต่เมื่อเฟส 1-2 ผ่านไปแล้วผลออกมาดี คลินิกน่าจะมีความสนใจมากขึ้นและมาสมัครเข้าร่วมมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้ประโยชน์ เพราะคิวรักษายาว ก็จะมีเอกชนเข้ามาช่วย คิวก็จะสั้นลง คลินิกเอกชนก็จะสามารถส่งงานที่ยากเกินที่ สปสช จ่ายค่าตอบแทน ไปรพ.ภาครัฐ โครงการนี้จึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาครัฐด้วย" ทพ.สุชิตกล่าว

 

 

ผศ.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา

 

ทั้งนี้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์  กล่าวทิ้งท้าย ว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คลินิก ร้านยาต่างๆ เข้าใจว่าที่เข้ามาร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ  ไม่ได้เข้ามาร่วม เพราะอยากเอาเงินอย่างเดียว เงินมันต้องมี แต่เข้ามาร่วม เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชน ให้เข้าถึงบริการได้ดีขึ้น แทนที่จะรอคิวยาว โรคก็ลามไป ฟันผุก็กลายเป็นต้องถอนฟัน  อย่าง 1. ต้องให้เขารู้สึกทำด้วยใจในฐานะที่เป็นหมอ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.ทำอย่างไรให้เป็นภาระน้อยที่สุด เช่น มีโปรแกรมของเขาอยู่แล้วในการคีย์ข้อมูลคนไข้ ถ้าสามารถเชื่อมต่อระบบเบิกจ่าย ใส่ข้อมูลคนไข้กดทีเดียวไปเบิกจ่ายได้เลย ไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลเบิกจ่ายอีกที ตรงนี้คิดว่า สปสช.ทำได้แน่ แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาระเขาให้มากที่สุด

“ต้องชื่นชมกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมมาก อย่างเพชรบูรณ์ก็เตรียมพร้อมเข้าสู่เฟสสองแล้ว  จริงๆระบบที่รองรับไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็น 1. เบิกจ่ายก็ง่ายไม่ต้องเคาะอะไรหลายที ไม่งั้นจะกลายเป็นหมอหน้าจอ  2.ค่าใช้จ่ายเขารับได้ ไม่รวยหรอก แต่เขาลงทุนไปแล้ว มีคนไข้อยู่แล้วอาจจะ 60-70% แต่นี่เติมไปอีก 30-40% ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากก็นับว่าดี ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ สปสช.ไม่ได้มีปัญญาไปเที่ยวชวน แต่ถ้าสภาวิชาชีพชวน มีความน่าเชื่อถือ และมาช่วยดูประเมินติดตามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ หากมี สปสช. และ สธ.จะช่วยกันรีบแก้ปัญหา”

นพ.สุวิทย์ ได้ฝากถึงคลินิก ร้านยาต่างๆ ที่ยังลังเลเข้าร่วมโครงการฯ ว่า  “ถ้าท่านทำด้วยใจ ไม่ต้องลังเล เงินจะได้มากได้น้อยเดี๋ยวมาเอง ถ้าทำด้วยใจแล้วต้องคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนเสริมจากรายได้หลักของท่าน อีกจุดสำคัญที่จะได้รับ คือ ภาพลักษณ์สำคัญกว่าเงิน  เงินอย่างไรก็หาได้ แต่ภาพลักษณ์ที่ดี แสดงว่าเรามีจิตวิญญาณที่ดี ผู้คนก็จะชื่นชมและก็จะเชื่อถือมากขึ้น

ระบบเบิกจ่ายของสปสช.ต่อโคงการ 30 บาทรักษาทุกที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สปสช.  ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”  จึงได้เพิ่ม “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” หรือหน่วยบริการนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง  ซึ่งมีการเพิ่มคลินิกต่างๆ ดังนี้

1. ร้านยาชุมชนอบอุ่น ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยา
2. คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น รับบริการทำแผล ล้างตา ล้างจมูก เปลี่ยนสายให้อาหาร ฉีดยาตามแผนการรักษาของแพทย์ ตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น 
3. คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ตรวจแล็บ 22 รายการตามใบสั่งตรวจจากแพทย์ 
4. คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น บริการฟื้นฟูผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก โดย รพ.ที่ให้การรักษาส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกฯ
5. คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์ 
6. คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอก 
7.คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายเพิ่มเติม ว่า  สปสช. ได้มีการออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขสำหรับบริการด้านนวัตกรรมตามประเภทของหน่วยบริการนวัตกรรมที่เข้าร่วม  ซึ่งเดิมทีในส่วนของ ร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น สปสช. ได้ออกประกาศไว้แล้ว ซึ่งบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ใน 4 รายการนี้ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้ประกาศใช้ในจังหวัดนำร่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 จึงได้มีการออกประกาศฯ ในส่วนของคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้ ให้บริการเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนำร่องก่อน โดยมีการเผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567  และมีผลย้อนหลังวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่เป็นวันเริ่มต้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

ทั้งนี้ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ  จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 
1. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านทันตกรรม พ.ศ. 2567 
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18276.pdf 

2. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านเวชกรรม พ.ศ. 2567 : 
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18277.pdf

3. ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2567  
ดาวน์โหลดประกาศ : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/18278.pdf