ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดสถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน มาถึงโรงพยาบาลทันใน 4.5 ชั่วโมง เพียงร้อยละ 13 เหตุสภาพการจราจรติดขัด! สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ รักษาเชิงรุก ลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ได้ดำเนินการให้บริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit) ตั้งแต่ปี 2564 โดยมุ่งเน้นโอกาสการเข้าถึงการบริการและการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที และเพิ่มคุณภาพชีวิตกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในกรุงเทพมหานครที่มีปัญหาการจราจรที่ติดขัด เนื่องจากการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นการรักษาที่มีเวลาเป็นความท้าทาย การพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม เพื่อการฟื้นฟูและหายจากโรคของผู้ป่วย ลดความเสียหายของสมอง (time is brain) 

จากสถิติของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (stroke fast track) ของสถาบันประสาทวิทยา ในปี 2464 – 2566 พบว่า มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันที่มาถึงโรงพยาบาลทันภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง เพียงร้อยละ 13 ซึ่งจากการสอบถามผู้ป่วยและญาติ พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่มาโรงพยาบาลล่าช้า เนื่องจากสภาพการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายฉบับทั้งในและต่างประเทศ พบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล เร็วขึ้น คือการเดินทางโดยใช้รถฉุกเฉินนำส่ง และการบริการของหน่วยรถโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile stroke Unit) ลดระยะเวลาการเข้าถึงการรักษา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน     

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการทีมนำทางคลินิกโรคหลอดเลือดสมอง สถาบันประสาทวิทยา ได้เห็นถึงประโยชน์ของการบริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile stroke Unit) จึงได้มีการจัดโครงการพัฒนาด้านระบบการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยเชิงรุก และดำเนินการต่อเนื่อง โดยการออกหน่วยรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ ซึ่งมีทีมแพทย์ประสาทวิทยา พยาบาลวิชาชีพหน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน พยาบาลวิชาชีพหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะวิกฤต นักรังสีทางการแพทย์ และพนักงานประจำรถ พร้อมให้บริการดูแลรักษาพยาบาล วินิจฉัย ตรวจพิเศษ พร้อมประเมินการรักษาเพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วยที่มีอาการ หลอดเลือดแดงในสมองอุดตัน และมีการให้บริการนำร่องควบคู่กับการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง โดยเริ่มต้นที่เขตสุขภาพที่ 11 โรงพยาบาลระนอง จังหวัดระนอง เขตสุขภาพที่ 3 โรงพยาบาลตาก จังหวัดตาก 

พร้อมจัดกิจกรรมการอบรมหลักสูตรรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (MSU) กับทีมโรงพยาบาลตาก เขตสุขภาพที่ 3 และโรงพยาบาลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 2 พร้อมจัดกิจกรรมการอบรม MSU ให้กับทีมโรงพยาบาลตาคลี ซึ่งมีการให้บริการผู้ป่วย Stroke Fast Track ในเขตอำเภอตาคลี และอำเภอตากฟ้า โดยได้รับการประสานการบริการอย่างไร้รอยต่อ และมีการออกหน่วยการบริการรถหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (NIT Mobile Stroke unit) ร่วมมือกับทีมแพทย์โรงพยาบาลอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี  เขตสุขภาพที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการโรคหลอดเลือดสมอง เพราะโรคหลอดเลือดสมอง  รู้ เร็ว รอด ปลอดอัมพาต  

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง