ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.รามาธิบดี จับมือทีมแพทย์ฝรั่งเศส ปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด  da Vinci Xi  3 ราย เป็นครั้งแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยอยู่ภายใต้โครงการฯไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งจะปลูกถ่ายจำนวนทั้งสิ้น 35 ราย หากคิดมูลค่าการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย   

 

คนไทยกินเค็มเกินมาตรฐาน 2 เท่า

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า โรคไตเป็นปัญหาสำคัญของไทย สาเหตุหนึ่งมาจากการกินเค็ม ซึ่งอาหารไทยส่วนใหญ่มีปริมาณความเค็ม 9 กรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคอยู่ที่ 5 กรัมต่อวัน ส่งผลให้คนไทยบริโภคเกินมาตรฐาน 2 เท่า เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคไต จนนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง การรักษามีทั้งการฟอกเลือด ผ่าตัด และปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีดีสุดการรักษาดีสุด แต่ต้องมีผู้บริจาคไตจากผู้เสียชีวิตหรือญาติพี่น้อง คณะฯ เป็นผู้นำปลูกถ่ายไตที่ให้บริการมากที่สุดในประเทศไทย โดยทำการปลูกถ่ายไตสำเร็จมากว่า 3,000 ราย ทั้งยังเป็นสถาบันพี่เลี้ยงและฝึกอบรมของสถาบันการศึกษา และรพ.เพื่อขยายการบริการการรักษาให้ผู้ป่วยได้เข้าถึง

งบฯ 130 ล้านจัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ปลูกถ่ายไต

คณะฯมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีที่สุดมาให้บริการผู้ป่วย จึงได้จัดสรรงบประมาณ 130 ล้านบาทจัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi มาใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งหุ่นยนต์ยังสามารถใช้ผ่าตัดมะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก และอวัยวะในช่องท้อง และถือเป็นความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ ที่ปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด  3 รายเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้โครงการปลูกถ่ายไตจากพื้นฐานสู่ขั้นสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินกิจกรรม

มูลนิธิรามาฯ หนุนค่าใช้จ่ายผ่าตัดแก่ผู้ป่วย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยที่รอบริจาคไตอยู่ประมาณ 7,000 ราย ขณะที่แต่ละปีมีผู้บริจาคเพียง 700 ราย จึงทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายทำได้เพียง 10% เท่านั้น ทั้งนี้ ในอนาคตการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทย จะมีบทบาทมากขึ้น ถึงแม้ค่าชุดเครื่องมือยังคงมีราคาสูง ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้ตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วย ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดที่รพ.รามาธิบดีนับเป็นก้าวย่างสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อดีผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ฟื้นตัวเร็ว ลดเจ็บปวด

ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า การปลูกถ่ายไตแบบเปิดแผลกว้าง เป็นวิธีปกติที่ใช้กันมานาน 70 ปี การนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเริ่มครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยปัจจุบันการปลูกถ่ายไตการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมถึงประเทศเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เคยมีการผ่าตัดวิธีนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน นวัตกรรมการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยใช้หุ่นยนต์ผ่านกล้อง ช่วยทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำทั้งในคนปกติและคนอ้วนโดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณช่องท้องที่ลึก รวมทั้งแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวรวดเร็ว ลดความเจ็บปวด ลดการเสียโลหิต และลดโอกาสการเกิดน้ำเหลืองขังเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด และมีภาวะแทรกซ้อนจากแผลน้อยกว่า

เผยผลลัพธ์ปลูกถ่ายไต 3 รายแรก

รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า  ผลลัพธ์การปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ของรพ.รามาธิบดีในผู้ป่วย 3 รายแรกมีวันเฉลี่ยนอน รพ.ประมาณ 9 วัน โดยไตทำงานได้ดี มีค่าซีรั่มครีเอตินินเท่ากับคนปกติ ค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย โดยผู้ป่วย 3 รายแรกอยู่ในโครงการที่คณะฯ ให้การรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งจะปลูกถ่ายจำนวนทั้งสิ้น 35 ราย