ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีแคดเมียม และสั่งการจังหวัดได้รับผลกระทบเปิดศูนย์ฯ ทันที เพื่อประสานการดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมเข้ม 4 มาตรการ ทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบ, การตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การดูแลสุขภาพกาย-ใจ และการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ PHEOC กรณีแคดเมียม โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์  

นพ.สุรโชค กล่าวว่า สถานการณ์การพบกากแคดเมียมขณะนี้กระจายไปหลายจังหวัด ตั้งแต่ตาก สมุทรสาคร ชลบุรี ล่าสุด กรุงเทพมหานคร และยังมีที่ตามไม่พบอีกจำนวนหนึ่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีแคดเมียม ขึ้นที่ส่วนกลาง พร้อมกับให้ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเปิดศูนย์ PHEOC ทันที เพื่อประสานการดูแลผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นระบบ

4 มาตรการรองรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข

โดยที่ประชุม PHEOC ได้กำหนดมาตรการรองรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 ด้าน ได้แก่

1.ด้านการเฝ้าระวังผลกระทบ

แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยร่วมบ้านกับคนทำงานในโรงงาน หรืออาศัยในบ้านที่มีการทำงานสัมผัสแคดเมียม,  กลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีโอกาสในการรับสัมผัสสูง โดยตรวจวัดสิ่งแวดล้อมพบว่าเกินมาตรฐาน และอยู่ใกล้โรงงานที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวกับแคดเมียม และกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือ ผู้มีโรคประจําตัว อาทิ โรคไต

2.ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

สามารถส่งตัวอย่างที่สงสัยมาทำการตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละแห่งสามารถรองรับการตรวจได้ 50 ตัวอย่างต่อวัน

3.ด้านการรักษาพยาบาล

ให้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ดูแลคัดกรองด้านสุขภาพกาย และทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ รวมทั้งให้คำแนะนำการงดแชร์ข่าวสารข้อมูลเท็จต่างๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน ตลอดจนเปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และการตรวจเช็คสุขภาพใจในสภาวะวิกฤตเบื้องต้นด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MENTAL HEALTH CHECK-IN 

4.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

จะมีทีม SEhRT ของกรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางแผนเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชน และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง เน้นการตรวจวิเคราะห์สารแคดเมียมและสังกะสีปนเปื้อน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน รวมทั้งเก็บตัวอย่างอาหาร พืชผักที่จำหน่ายในตลาด เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนในแหล่งอาหาร ตลอดจนสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพให้กับประชาชนด้วย

 

  

ข่าวเกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก "แคดเมียม" สารก่อมะเร็ง พิษต่อกระดูก สาเหตุโรคอิไต – อิไต

-กรมควบคุมโรค เตือน! ปชช.ที่สูดดมควันบุหรี่เสี่ยงรับพิษ "แคดเมียม"

-คร. ลงพื้นที่เฝ้าระวังสุขภาพประชาชน หลังกทม.ประกาศเขตบางซื่อ พื้นที่อันตรายพบกากแคดเมียม