ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทนายเจมส์  พร้อมเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ ITCHA (อิชช่า) เข้าร้องทุกข์สธ. พร้อมนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท และของล่อซื้อ ให้กรมวิทย์ตรวจหา “ไซบูทรามีน” เพื่อให้ชัดเจนของจริงปลอดภัย ยืนยันมีของปลอมใช้เลขช่วงเดือนมกราคม 2567 แต่ล่าสุดบริษัทแจ้งยกเลิกเลขทะเบียนเดือนดังกล่าวแล้ว

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มิถุนายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ทนายเจมส์-นิติธร แก้วโต ทนายความบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อแบรนด์ ITCHA(อิชช่า)  พร้อมเจ้าของผลิตภัณฑ์ เดินทางมายื่นผ่านศูนย์ร้องทุกข์ของสธ. และนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ ITCHA (อิชช่า) ที่ผลิตจากบริษัท และผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบที่ไปล่อซื้อ มาส่งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.  และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งนายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มารับเรื่องดังกล่าว

นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า วันนี้ทางบริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์มาให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบหาสาร “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารอันตราย อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำ 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องโฆษณาเกินจริง ไม่เกี่ยวข้องกับครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการ  2. คดีความที่เกิดขึ้นไปแล้ว เกี่ยวเนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว มีเรื่องคดีความอยู่ แต่แยกส่วนกันไม่เกี่ยวข้องการยื่นครั้งนี้ แต่ 3. การยื่นครั้งนี้ เนื่องจากทนายเจมส์ และผู้บริหารของแบรนด์ดังกล่าว ได้มาแจ้งว่ามีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน เป็นสินค้าลอกเลียนแบบ ว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือไม่ กับสินค้าของผลิตภัณฑ์เองในหลายล็อตผลิตเพื่อให้รู้ว่ามีสารไซบูทรามีนหรือไม่ เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

“วันนี้ได้ประสานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการตรวจสอบวัตถุต่างๆ ซึ่งกรมวิทย์และอย. รับทราบและจะนำไปตรวจหาสารไซบูทรามีน ใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 วัน แต่ย้ำว่า ผลออกมาอย่างไรไม่เกี่ยวหรือกระทบกับผลสืบสวนทางคดีที่เกี่ยวข้องกัน และขอย้ำอีกว่า ผลตรวจเฉพาะที่นำมาส่งครั้งนี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับล็อตอื่นๆแต่อย่างใด” นายกองตรีธนกฤต กล่าว

นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในเรื่องการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับลดน้ำหนัก จะมีวัตถุห้ามขาย คือ ไซบูทรามีน ซึ่งใช้เวลาตรวจ 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม การนำส่งมาตรวจ จะตรวจสอบเฉพาะชิ้นที่นำมาส่งตรวจเท่านั้น ผลออกมาก็จะออกใบรายงานรับรองเพียงชิ้นนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้รับรองทั้งล็อต หรือทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลักการจะเป็นแบบนี้หมด

“ไซบูทรามีน เป็นสารที่มีผลต่อจิตและประสาท ทำให้ไม่อยากอาหาร ไม่หิว แต่ผลข้างเคียงกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสี่ยงหัวใจวาย เสียชีวิต” นพ.พิเชฐ กล่าว

ทนายเจมส์-นิติธร แก้วโต กล่าวว่า ที่นำมาส่งตรวจเป็นล็อตการผลิตของเดือน 2 เดือน 3 และเดือน 4 ซึ่งนำมาจากโรงงาน เพราะบริษัทไม่ได้เก็บสต๊อก แต่โรงงานจัดส่งให้ และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบมา ทั้งนี้ ของบริษัทที่นำส่ง ขาดเดือนมกราคม เนื่องจากหมดไปแล้ว ซึ่งยอดสั่งจองเยอะมาก จนยอดขาดตลาด ทำให้มีของปลอม พบว่า มีการใช้ล็อตเลขการผลิตเดียวกันหมด  เราตรวจเจอเดือนมีนาคม จึงมีการประกาศว่า ล็อตการผลิตวันที่ 10 มกราคม 2567 เป็นของปลอม ประกาศตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีการแจ้งความไปหลายครั้ง เพราะล่อซื้อหลายครั้ง ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว แต่ยังแจ้งไม่ได้ เกี่ยวข้องกับคดี

“เดือนมีนาคม เราเห็นมีของปลอม ก็มีการล่อซื้อ พบว่าลอกเลขการผลิตของเดือนมกราคม 2567 มาทั้งหมด ซึ่งเมื่อทราบ ทางบริษัทเรียกสินค้าและเปลี่ยนแพคเกจใหม่เหมือนที่เคยแถลงไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางเราได้ยกเลิกเลขการผลิตของเดือนมกราคมไปแล้ว ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์เลขล็อตเดือนมกราคมขอให้แจ้งจับได้ทันที” ทนายเจมส์ กล่าว และว่า การนำมาตรวจสารครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าของบริษัท ทำถูกต้อง เนื่องจากโรงงานที่ผลิตทำหลายแบรนด์ หากทำไม่ดีก็กระทบหมด

เมื่อถามว่าหลังจากมมีเหตุการณ์นี้ ได้คุยกับอย.หรือไม่ว่าสินค้าที่ตรวจมาจากไหน ทนายเจมส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่ต้องขอบคุณ อย. เพราะเราทราบมีของปลอม ประกาศแจ้งเตือนตลอด แต่ไม่มีความคืบหน้า แต่พอ อย. ประกาศ พวกของปลอมปิดหมด

ถามว่าสินค้าที่อย.นำส่งตรวจที่ล่อซื้อมา คิดว่าของปลอมแน่หรือไม่ ทนายเจมส์ กล่าวว่า  ชัวร์ ปลอมแน่ เพราะดูจากกล่อง แพคเกจไม่ใช่ของบริษัทอย่างแน่นอน