ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลสำรวจวันยุติความรุนแรงฯ พบสามี/แฟน เกือบครึ่งนิยมใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้หญิง แถมบังคับให้มีเซ็กซ์ น่าห่วง71.7% ซ่อนกิ๊กคบเผื่อเลือก ด้านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล-สสส.เปิดตัวแคมเปญ“Man Can Do Stop Violence”หยุดความรุนแรง จำลองเหตุการณ์ผู้ชายเป็นผู้ถูกทำร้าย หวังสื่อให้เข้าใจหัวอกฝ่ายหญิง

เมื่อวันที่ 21พ.ย.59) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2559 ภายใต้แนวคิด“คุณทำได้ ผู้ชายตัวจริง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”(Man Can Do Stop Violence)

ทั้งนี้ภายในงานได้ร่วมกันเขียนคำว่า Stop บนฝ่ามือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กจากนั้นถ่ายรูปและติดแฮชแท็ก menstopviolence โพสต์ลงบนสื่อโซเชียล และในงานยังมีการการจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกให้เลี้ยงดูลูกที่เป็นทารก เพื่อสื่อให้เข้าใจถึงหัวอกผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงดูลูกและยังต้องเป็นผู้ถูกกระทำ ในสังคมชายเป็นใหญ่ ยิ่งมีการดื่มน้ำเมาเขาไปด้วย จะยิ่งไปเพิ่มความรุนแรงในครอบครัว​มากขึ้นหลายเท่า

นางสาวอุสุมา เกตุท่าหัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า เดือน พ.ย.ถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ต้องการสื่อสารไปยังผู้ชายที่ยังมีแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ จนนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่างๆ สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดปี5 9 ต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มผู้ชายจำนวน 1,617 ตัวอย่าง อายุ 20–35 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลและต่างจังหวัด คือชุมพร เชียงใหม่ ลำปาง พบว่า

ผู้ชายกว่า 80% เคยพูดตะคอกเสียงดัง ต่อภรรยาและคนรัก อีกทั้ง 74.7% มักจะใช้คำหยาบคายเมื่อโมโห ชอบระบายอารมณ์ ที่น่าห่วงคือ 71.7% แอบมีกิ๊ก คบกับผู้หญิงหลายคน เผื่อเลือก และเมื่อเกิดอารมณ์โมโห สิ่งที่ผู้ชายเลือกทำคือ 57.3% ทำลายข้าวของในบ้าน 68.9% ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน ที่น่าห่วงคือ 44.8% เมื่อดื่มเหล้าจนเมาแล้วจะทำร้ายภรรยาหรือแฟน อีกทั้ง 42.4% ยังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย

ทั้งนี้เมื่อถามว่าหากพบเห็นการทำร้ายร่างกายและการใช้ความรุนแรง  ซึงกลุ่มตัวอย่าง 12.9% เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่เข้าไปห้าม ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 ที่มองผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเป็นสมบัติของสามี ต้องดูแลงานบ้าน ดูแลลูก มองว่าผู้ชายเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่ผู้ชาย1 ใน 4 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายไม่เจ้าชู้เหมือนงูไม่มีพิษ” “ผู้ชายตัวจริงต้องกินเหล้า” และการคุมกำเนินต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายหญิง ที่สำคัญกว่านั้นยังมี ถึง 14% ระบุว่าการที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงเป็นเพราะหึงหวง ต้องการแสดงออกว่ารัก รวมถึงระบุว่าหากมีโอกาสแล้วไม่ล่วงเกินผู้หญิงถือว่าไม่ฉลาด

นางสาวอุสุมา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจข้างต้น มูลนิธิฯ ขอฝากเป็นข้อเสนอ คือระดับบุคคลและครอบครัว ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เน้นเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช้ความรุนแรง ให้เกียรติกัน ผู้ชายสามารถทำงานบ้านช่วยเหลือผู้หญิงได้

ขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรรณรงค์กับผู้ชายอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรง และประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรปรับหลักสูตรในประเด็นบทบาทหญิงชาย มีการอบรมความรู้ความเข้าใจในปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้กับครูในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดและสร้างทัศนคติให้กับเด็กมีการเคารพสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ส่วนสื่อมวลชนเองไม่ควรผลิตซ้ำภาพความรุนแรงในครอบครัว ควรเน้นการนำเสนอความเท่าเทียม การให้เกียรติ และทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

นายอำนาจ  แป้นประเสริฐ อายุ 35 ปี ผู้ที่เคยกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง จนปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักรณรงค์แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง กล่าวว่า กว่า 5 ปีที่ใช้ความรุนแรงกับภรรยา ทั้งทำร้ายร่างกายตบตีใช้คำพูดดูถูกเสียดสีด่าทอมาโดยตลอด เวลาเมาสุรากลับมามักหงุดหงิดโมโหร้าย และจบลงด้วยการทำร้ายร่างกาย กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนคือได้เห็นผลกระทบในครอบครัวลูกมีปัญหา ครอบครัวขาดความอบอุ่น และภรรยาทนไม่ไหวขอหย่า อีกทั้งยังได้เข้าร่วมงานกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จนฉุกคิดได้กลับมาเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่หยุดความรุนแรงทุกอย่าง ผันตัวเองเป็นแกนนำรณรงค์แก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในที่สุด

นางธชพรรณ บริเพ็ชร์ อายุ 52 ปี ประธานชุมชนบ้านแบบ เขตสาทร กทม. กล่าวว่า  จากประสบการณ์การทำงานในชุมชน สิ่งที่พบเห็นเป็นประจำคือการใช้ความรุนแรง เช่น สามีเอามีดไล่ฟันเมียจนเลือดอาบ พ่อกักขังทารุณลูก พ่อเลี้ยงละเมิดทางเพศลูกเลี้ยง หลานทำร้ายร่างกายยาย ลูกเลี้ยงทำร้ายแม่เลี้ยง หลานข่มขืนน้า ซึ่งปัจจัยกระตุ้นคือ เหล้า ยาเสพติด พนัน และความหึงหวง

ทั้งนี้จุดที่ทำให้ต้องมาทำงานรณรงค์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชน คือในอดีตเคยรู้สึกผิดกับเหตุการณ์ที่มารู้ภายหลังว่าเพื่อนถูกรุมโทรมในวงเหล้า หากครั้งนั้นถ้าเราดึงเพื่อนออกมา คงไม่ต้องเจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงป้องกันได้ถ้าสังคมและทุกฝ่ายจริงจัง ซึ่งหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำงานด้วยใจ เข้าไม่ถึงปัญหา ตำรวจเองก็ยังไม่อยากรับแจ้งความมองเป็นแค่เรื่องสามีภรรยา ทั้งที่ในความเป็นจริงรวมทั้งข้อกฎหมายแล้วความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ซึ่งหากพบเห็นต้องแจ้งตำรวจในพื้นที่ หรือ 1300 ของ พม. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 02-5132889    

เรื่องที่เกี่ยวข้อง