ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงศึกษาธิการผนึก สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เสริมทักษะกู้ชีพฉุกเฉินให้นักเรียน นำร่องสังกัดพื้นที่กทม. หวังปลูกฝังเด็กไทยรู้รอดปลอดภัย ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นเมื่อเผชิญเหตุฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ รศ.นพ.โสภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงนโยบายการศึกษาเพื่อผลักดันหลักสูตรและเสริมทักษะให้เด็กไทยรู้รอดปลอดภัย จัดโดย สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ภายในงานมีทีมกู้ชีพฉุกเฉิน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ร่วมให้ความรู้สาธิตการฝึกกู้ชีพฉุกเฉิน โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ จากโรงเรียนสังกัดกทม.เข้าร่วมแลกเปลี่ยน กว่า 300 คน

รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และมีประโยชน์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องนี้ แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความทันสมัย และส่งเสริมทักษะ การปฏิบัติ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ฝึกปฏิบัติ ด้วยความสนุก ในแต่ละกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสมกับทุกช่วงวัย

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า หากทุกคนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วยจะเป็นผลดีต่อตนเองและประเทศ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเสียเงินไปกับการรักษาผู้ป่วยเป็นเงินจำนวนมาก หากคนไทยมีสุขภาพดีประเทศจะลดรายจ่ายของประเทศได้ ทั้งนี้การดำเนินจะขับเคลื่อนไปได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องอาศัยภาคี เช่น สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนในการทำงาน

รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความรู้และความเข้าใจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพหรือความปลอดภัยหากเกิดการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรง มีผู้ป่วยหรือบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จะพบเห็นว่า ประชาชนกือบทั้งหมดเป็นไปอย่างเป็นระบบ มีระเบียบและไม่เกิดความวุ่นวาย สำหรับประเทศไทยจะมีการสอนเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือปฐมพยาบาลในหลักสูตรการศึกษามานานแล้ว ยังพบว่า ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน รวมถึงขาดทักษะที่เหมาะสมทั้งในการดูแลสุขภาพของตนเอง ตลอดจนการช่วยเหลือผู้อื่นหากประสบพบเหตุ ดังนั้น การพัฒนารูปแบบใหม่ๆในการสอนและฝึกให้มีทักษะได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

“ผมคาดว่า ผู้บริหารและอาจารย์ผู้รับผิดชอบในกิจกรรมสร้างเสริมทักษะชีวิตและลูกเสือในโรงเรียนต่างๆ จะร่วมรับฟัง สอบถามประเด็นที่สงสัย เพื่อให้เข้าใจในรูปแบบก่อนที่จะมีการมอบ นโยบายให้เริ่มมีการขยายผลต่อไปเกิดรูปธรรมต่อไปโดยเร็ว” รศ.นพ.โศภณ กล่าว

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้ชัดเจนกว่านี้ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการที่มีบทบาทสำคัญ ต้องกำหนดนโยบายการศึกษา เสริมสร้างให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตที่สอดแทรกทักษะความรู้กู้ชีพฉุกเฉิน ในวิชาต่างๆได้ เช่น พละ สุขศึกษา เหมือนกับที่เคยผลักดันให้เกิดหลักกสูตรลูกเสือกู้ชีพ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีทักษะชีวิตที่จะรู้รอดปลอดภัย

“ปัญหาตอนนี้คือ คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ยแล้วปีละ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เสียชีวิตและพิการจำนวนมาก ซึ่งหลายสาเหตุสามารถป้องกันได้ ดังนั้น การปลูกฝังและฝึกฝนทักษะการกู้ชีพฉุกเฉินตั้งแต่ในโรงเรียรและเหมาะสมกับช่วงอายุ จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความรู้ที่จะให้ตนเองรู้รอดปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้” นพ.สันต์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา วิเทศสัมพันธ์และกรรมการสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ทางสมาคมฯต้องการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายทางด้านการศึกษา ซึ่งจะมีการอบรมครูแม่ไก่ เพื่อให้เป็นครูแกนนำในการขยายความรู้และป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินไปสู่นักเรียนในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการทำงานให้เกิดความยั่งยืน