ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สภาเภสัชกรรมแถลงการณ์ ยืนยันพิษร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต พร้อมคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน ปี 2562

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562 ลงนามโดย รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุถึงพิษร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ประกอบกับปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว โดยสภาเภสัชกรรมมีมติขอเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต

แถลงการณ์สภาเภสัชกรรมเรื่อง ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562

จากการศึกษาข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ สภาเภสัชกรรมได้พิจารณาหลักการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต สำหรับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาประเทศ พร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สรุปเป็น 3 ประการ ดังนี้

1.หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle) ซึ่งเป็นหลักการสากลในการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย

2.เกษตรกรควรมีสิทธิและทางเลือกที่จะทำเกษตรกรรมที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของตนเอง และผู้บริโภค

3.นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาการเกษตรกรรมของไทย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์“เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”

จากหลักการทั้ง 3 ข้อ สภาเภสัชกรรมจึงขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็น คณะกรรมการตามกฎหมายที่จะกำหนดมาตรการในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดดังกล่าว โดยขอให้ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ด้วยเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดมีพิษสูง เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 รายละเอียดสรุปข้อมูลของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นดังนี้

1.พาราควอต

เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต มีงานวิจัยมากมายแสดงว่า พาราควอตเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และทำลายสมองโดยการสร้างสาร ∝-synuclein เช่นเดียวกับที่พบในสมองของผู้ที่ตายจากการได้รับพาราควอตและผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์ จากการศึกษาหาปริมาณพาราควอตในคนไทย พบทั้งเลือดหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือ และขี้เทาทารกแรกเกิด และพบปริมาณสารนี้ในสิ่งแวดล้อม น้ำ พืช อาหาร

นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้พาราควอตและได้ผลผลิตสูงแม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรมในต่างประเทศยกเลิกการใช้พาราควอต จำนวนกว่า 53 ประเทศ รวมทั้ง จีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพาราควอตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

2. คลอร์ไพริฟอส

เป็นสารที่มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า มีผลต่อสมองเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบคลอร์ไพริฟอสในสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในคนไทยพบปริมาณคลอร์ไพรีฟอสในเลือดหญิงตั้งครรภ์และในสายสะดือของทารก

นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้คลอร์ไพริฟอสและมีผลผลิตสูงได้ แม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรมหลายประเทศที่ยกเลิกการใช้สารนี้แล้ว และต้นเดือนสิงหาคม 2561 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ให้ห้ามขาย คลอร์ไพริฟอส ภายใน 60 วัน

3. ไกลโฟเสต

เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (Group 2A)ผลการวิจัยที่ผ่านมา พบไกลโฟเสตตกค้างในซีรัมของแม่ และสายสะดือของทารก ในมารดาที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเสต ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้สารนี้ และจากข้อมูลล่าสุด บริษัทไบเออร์มอนซานโตในเยอรมัน แพ้คดีจากการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากไกลโฟเสต และขณะนี้มีกรณีฟ้องร้องถึงเกือบหมื่นกรณี

ข้อมูลทางวิชาการข้างต้น ชี้ชัดถึงพิษร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ประกอบกับปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

สภาเภสัชกรรมจึงมีมติขอเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562