ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 มอบกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ตั้งเป้าคนไทย 10 ล้านคน มีความรู้และใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเพื่อช่วยชีวิตได้

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 ที่ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมการสอนกู้ชีพขั้นพื้นฐานว่า ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำและขับเคลื่อนโครงการ “ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “แพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงสาธารณสุขจึงได้รับมาดำเนินการจัดทำเป็นหลักสูตรมาตรฐานสอนการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้อบรมประชาชน และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นการสื่อสารถึงประชาชนเป็นวงกว้าง โดยตั้งเป้าหมายให้คนไทย 10 ล้านคน มีความรู้สามารถช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และ 3.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 20 สามารถปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและใช้เครื่องคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ได้

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า การจัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ แพทยสภา ร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และได้รับความร่วมมือของแพทย์จิตอาสา จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยแพทย์ 4 เหล่าทัพ แพทย์ภาครัฐและเอกชน จัดหน่วยแพทย์อาสาออกตรวจรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป โรคซับซ้อนขั้นสูง ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และสอนการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED โดยมีผู้เข้ารับการอบรมประมาณ 2,500 คน ซึ่งผู้อบรมจะมีความรู้ในการช่วยชีวิตไปตลอดชีวิต และยังนำความรู้ไปสอนคนในครอบครัวและคนอื่นๆให้มีความรู้ฟื้นคืนชีพเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ย 1 ชั่วโมงละ 6 คน แต่หากได้รับการช่วยเหลือด้วยการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) อย่างถูกต้อง ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น จะลดอาการบาดเจ็บ ความพิการ ตลอดจนการสูญเสียชีวิตได้ โดยผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะการช่วยเหลือ และปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้น จำเป็นต้องมีการอบรมเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้อย่างถูกต้องและสามารถทำต่อเนื่องไป จนกระทั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจมาถึง และพร้อมใช้งาน หรือมีบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาดูแลผู้ป่วยต่อไป